วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รมว.สธ.ตอบกระทู้ถามกลางสภาฯ “หมอเปรม”ย้ำรัฐบาลให้ความสนใจแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าโดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว

On October 7, 2024

รมว.สาธารณสุขตอบกระทู้ถามกลางสภาฯ “หมอเปรม”ย้ำรัฐบาลให้ความสนใจแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าโดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เน้นปราบปรามอย่างเข้มข้นจริงจังตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งกระทู้ถาม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เรื่อง การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังกลายเป็นปัญหาสังคม ว่า บุหรี่เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยง มีผลต่อสุขภาพอย่างสูง ทำให้คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดที่มาจากการสูบบุหรี่ถึง 26.1 % และเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 – 4 เท่า และเพิ่มการเป็นมะเร็งปอดถึง 25 เท่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มที่เป็นเป้าหมายคือเด็กและเยาวชนรวมถึงผู้หญิง โดยพบว่าในปี 2564 มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ปี 2565 เพิ่มเป็น 79,677 คนเนื่องจากธุรกิจบุหรี่ ได้พัฒนากลไกด้านการตลาด โดยมุ่งเน้นการสื่อสารให้เข้าถึงระบบออนไลน์ ผู้ปกครองก็ไม่ทราบคิดว่าลูกหลานดูข่าวหรือทำการบ้านแต่ทำใช้โทรศัพท์ในการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกลายเป็นปัญหาทุกวันนี้

ทั้งนี้ มีผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า นั้นคือจาก 3.3 % ในปี 2558 เป็น 17.6 % ในปี 2565 ดังนั้น เยาวชนเป็นลูกค้าของบุหรี่ไฟฟ้า กว่าจะพ้นวัยเยาวชน 25 ปี จะเกิดปัญหาสมองฝ่อ สมองเสื่อม เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง คุณภาพชีวิตของคนประเภทนี้จะต้องตายด้วยโรคมะเร็งปอดอย่างแน่นอน ดังนั้น กลไกลในการหลอกลวงเยาวชนจึงมีแพร่หลายเพราะเป็นลูกค้าที่จะควักเอาเงินจากกระเป๋าผู้ปกครองมาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายทุกวัน รูปร่างของบุหรี่ไฟฟ้า ก็จูงใจ เหมือนขนมเหมือนของเล่นเหมือนอุปกรณ์การเรียน ทำให้การซื้อขายง่าย ไม่เป็นที่แปลกใจของผู้ปกครอง นึกว่าใช้อุปกรณ์การศึกษา นึกว่าเป็นเครื่องเล่นทั่วไป ทุกวันนี้บุหรี่ไฟฟ้าสจึงขายกันจำนวนมากหน้าโรงเรียนก็มีจึงต้องอาศัยผู้มีอำนาจหน้าที่เข้ามาดำเนินการ

“ผมเห็นว่ารมว.สาธารณสุข สนใจปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพคนไทยจึงขอถามว่า 1.กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กให้เยาวชนอย่างไร โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่มีการโฆษณาอย่างเสรี และยังไม่มีผู้ใดเอาผิดตรงจุดนี้ได้เลย จึงอยากเห็นรัฐบาลเอาจริงเอาจัง  2.มีแนวทางปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าโดยเพิ่มบทลงโทษให้กับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่า ยและผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร เพราะปัจจัยหลักคือการนำเข้าจากต่างประเทศ และ 3.มาตรการสื่อสารในการรณรงค์ให้สังคมรับรู้พิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร

นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความกับการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าโดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อให้การปราบปรามดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมานอกจากได้เน้นย้ำต้องเฝ้าระวังควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ถึงโทษและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชน บูรณาการป้องกันการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และการประสานปิดเพจเฟซบุ๊กขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงเดินหน้าค้นหานำผู้ติดบุหรี่เข้ารับการบำบัดรักษา การนำสมุนไพรไทยมาใช้รักษาผู้ติดบุรหรี่ และขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ยังทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับผู้ป่วยต่าง ๆ ให้ตระหนักว่าบุหรี่เป็นบ่อเกิดของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ด้วย

สำหรับ การนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายต่าง ๆ นั้น จะเข้าข่ายที่เน้นการยึดทรัพย์ตามมาตรการปราบปรามยาเสพติด ส่วนข้อเสนอของนพ.เปรมศักดิ์ที่ให้เผาทำลายโดยเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบนั้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แต่กระทรวงสาธารณสุขยินดีรับข้อเสนอแนะไปแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะขณะนี้ยังมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาจะนำข้อมูลที่เสนอแนะไปให้ทราบต่อไป


You must be logged in to post a comment Login