วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ESG ที่ขาดๆ ของบริษัทระบบขนส่งมวลชน

On October 8, 2024

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  8 ต.ค.  67)

ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental Social Governance คือการใส่ใจสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคมและธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่วิสาหกิจพึงปฏิบัติเพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ แต่หลายแห่งก็ทำแบบ “ขอไปที” หรือสักแต่ทำ ไม่ได้สร้างแบรนด์ เป็นแต่การสร้างภาพ โดย ESG ที่แท้กลับไม่ได้ทำ มาดูกรณีตัวอย่างบริษัทระบบขนส่งมวลชนในประเทศหนึ่ง

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (area.co.th) ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชา Soft Laws และเขียนหนังสือชื่อ CSR ที่แท้สำหรับประกอบการสอนระดับปริญญาเอก และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินค่าทรัพย์สินที่มีมาตรฐาน ESG ประกอบการพิจารณามูลค่าของบริษัทด้วย รวมทั้งได้ไปดูงานบริษัทระบบขนส่งมวลชนในหลายประเทศ ให้ความเห็นกรณีศึกษาในเรื่องนี้

บริษัทขนส่งมวลชนแห่งหนึ่งในประเทศหนึ่ง ไม่ลดค่าบริการขนส่งมวลชน (เช่น รถไฟฟ้า หรือรถสาธารณะ) แก่ผู้โดยสารที่เป็นผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) โดยตรง ต่างกับบริษัทขนส่งมวลชนอีกบริษัทหนึ่งที่ลดราคาให้ผู้สูงวัยทันทีที่แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือเพียงแต่ผู้โดยสารบอกว่าตนเองเป็นผู้สูงวัยแล้ว ก็ได้รับส่วนลดเลย  มีอยู่ครั้งหนึ่ง ดร.โสภณเองในวัย 50 ต้นๆ ยังได้รับคำทักทายจากพนักงานขายตั๋วของบริษัทดังกล่าวว่ามีบัตรผู้สูงวัยหรือยัง เพราะใบหน้าดูคล้ายคนอายุเกิน 60 ปีแล้ว  แต่การทักทายเช่นนี้ก็ทำให้ ดร.โสภณ เสียใจอยู่บ้างเช่นกันเพราะใบหน้าดูแก่กว่าวัยมาก (ฮา)

แต่สำหรับบริษัทรถไฟฟ้าแห่งที่ไม่ลดค่าโดยสารให้กับผู้สูงวัยแม้จะแสดงบัตรประชาชน มีเงื่อนไขว่า ต้องทำบัตรโดยสารกับบริษัทก่อน จึงจะได้ส่วนลด เช่น ต้องเสียเงินประมาณ 6 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 200 บาท) โดยเป็นค่าบัตร 3 เหรียญสหรัฐ (100 บาท) อีก 3 เหรียญสหรัฐ (100 บาท) เป็นค่าบัตรพลาสติกดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการทั้งหลาย (ที่เป็นสมาชิกบัตร ไม่ว่าจะสูงวัยหรือไม่) ต้องจ่ายเงินเปล่าไป 2 เหรียญสหรัฐเป็นค่าบัตร โดยไม่สามารถแลกเงินคืนได้ถ้าหากคิดจะเลิกใช้รถไฟฟ้าแล้ว เพราะเงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นค่าบัตรพลาสติกดังกล่าว

ยิ่งกว่านั้นหากเป็นในกรณีนักท่องเที่ยวที่อุตส่าห์เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศดังกล่าว หากต้องการคืนเงิน ค่าบัตร เขาก็ให้คืนแค่ครึ่งเดียวคือประมาณ 1.5 เหรียญสหรัฐหรือ (ราวๆ 50 บาท) ไม่คืนเต็มจำนวน และจะคืนเงินให้ภายใน 10 วัน ไม่ใช่คืนทันที ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่เขาคืนค่าบัตรให้เต็มจำนวน ไม่ได้ “กั๊ก” ไว้แบบนี้ นี่ถ้ามีผู้โดยสารภายในประเทศดังกล่าว (ไม่ใช่นักท่องเที่ยว) สัก 2 ล้านคนซื้อบัตรดังกล่าว ก็เท่ากับว่าบริษัทดังกล่าวได้เงินไปฟรีๆ ถึง 200 ล้านบาท

การที่บริษัทขนส่งมวลชนในประเทศดังกล่าว ไม่ลดให้แก่ผู้สูงวัยแต่แรก นับว่าขาด ESG เป็นอย่างยิ่ง แม้แต่รถประจำทางในประเทศไทย หรือแม้แต่รถไฟฟ้าใต้ดินในประเทศไทยเอง ก็ยังลดให้ผู้โดยสารที่แสดงบัตรประจำตัวประชาชนว่าเป็นผู้สูงวัย แต่บริษัทขนส่งมวลชนดังกล่าวกลับไม่นำพา ต้องการให้ซื้อบัตรโดยสารที่ต้องเสียเงินประมาณ 6 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 200 บาทก่อน) จึงจะยอมลดให้

ด้วยเหตุนี้ ต่อให้บริษัทดังกล่าวจะทำสิ่งดีๆ แบบ “สิ่งละอันพันละน้อย” ก็ไม่อาจชดเชยการเอาเปรียบสังคม ไม่นำพาต่อสังคม ไม่มีธรรมาภิบาล และ “สิ่งละอันพันละน้อย” เหล่านั้นก็เป็นเพียงการ “ลูบหน้าปะจมูก” ซึ่งไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการสร้างแบรนด์ขององค์กร เป็นเพียงการ “โฆษณาชวนเชื่อ” เป็นเพียงการทำความดีแบบผิวเผิน ซึ่งไม่ได้มีโภคผลใดๆ แก่ชุมชนโดยรอบและสังคมโดยรวม ไม่ได้แสดงถึงการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแต่อย่างใด ถ้าองค์กรแบบนี้ได้รับการยกย่องว่ามีคะแนน ESG ดีเด่น ก็แสดงถึงการตัดสินที่ไร้มาตรฐานใดๆ

การไม่ลดค่าโดยสารให้ผู้โดยสารสูงวัยทันที จึงสะท้อนถึงก้นบึ้งที่ขาดความรับผิดชอบไปถึงผู้บริหารระดับเบอร์หนึ่งขององค์กรเลยทีเดียว


You must be logged in to post a comment Login