วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567

โรคปอดเป็นพังผืด ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในโรคแพ้ภูมิตัวเอง

On October 12, 2024

• 1 ใน 2 หรือ 50% ของผู้ป่วยโรคหนังแข็ง มีโอกาสเป็นโรคปอดเป็นพังผืดร่วมด้วย
• แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด-ข้อและรูมาติสซั่ม จัดงาน “รักษ์ข้อดูแลปอดและอ้อมกอดแห่งรัก” ให้ความรู้ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเองหลังพบมีโอกาสเกิดพังผืดในปอดบ่อยขึ้น

รศ. นพ. ศุภฤกษ์ ดิษยบุตร ประธานคณะอนุกรรมการโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม (ILD Assembly) ภายใต้สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “โรคปอดเป็นพังผืด (Pulmonary fibrosis) เป็นโรคหายาก หนึ่งในกลุ่มโรคปอดอินเตอร์สติเชียล (interstitial lung disease หรือ ILD) ที่เกิดพังผืดขึ้นที่เนื้อเยื่อปอด ซึ่งอยู่ระหว่างชั้นถุงลมและหลอดเลือดในปอด ให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย รู้สึกหายใจไม่อิ่ม โดยบริเวณเนื้อเยื่อปอดที่มีพังผืดเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถกลับคืนมาได้อีก และเมื่อตัวโรคพัฒนาเข้าสู่ภาวะลุกลามจะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับโรคมะเร็ง ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษา มักเสียชีวิตภายใน 3-4 ปี ปัจจุบันมีความชุกประมาณ 74.3 ถึง 76 รายต่อประชากร 100,000 คน โดยร้อยละ 13-40 ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมีโอกาสพัฒนาเป็นภาวะปอดเป็นพังผืดชนิดลุกลามได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และคอยติดตามสม่ำเสมอ

“ในเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวาระสำคัญในการรณรงค์สร้างความตระหนักความเข้าใจโรคปอดเป็นพังผืด ถือเป็นครั้งแรกที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ข้อและภาคีเครือข่ายจัดงาน “รักษ์ข้อดูแลปอดและอ้อมกอดแห่งรัก” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป โดยเน้นที่โรคพังพืดในปอดที่มีสาเหตุมาจากโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งพบค่อนข้างบ่อย เช่น โรคหนังแข็ง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคเอสแอลอี ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการอาการทางปอด ไม่ว่าจะเป็นปอดอักเสบ หรือปอดมีพังผืด จะมีผลต่อคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยและญาติจึงควรมีความตระหนักรู้เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในระยะแรกของโรคเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ชะลอการสูญเสียของสมรรถภาพปอดในอนาคต”

รศ. พญ. ประภาพร พิสิษฐ์กุล อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซั่ม รพ. รามาธิบดี กล่าวว่า “มูลนิธิรักษ์ช้อ จัดงานร่วมกับ ILD Assembly และภาคี ร่วมกันจัดงาน “รักษ์ข้อดูแลปอดและอ้อมกอดแห่งรัก” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคปอดเป็นพังผืดให้แก่ผู้ป่วยและญาติ ให้สามารถสังเกตตัวเองและเข้าสู่การรักษาได้เร็ว โรคปอดเป็นพังผืดมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเองหรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยเฉพาะ ผู้ป่วยโรคหนังแข็ง จำนวนมากกว่า 50% มีโอกาสเกิดพังผืดในปอดค่อนข้างเร็ว แนะนำให้แพทย์วินิจฉัยโรคปอดเป็นพังผืดแต่เนิ่นๆ และให้การรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมไม่ให้ปอดเป็นพังผืดลุกลามมากขึ้น เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยง่ายมากขึ้นและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ โรคปอดเป็นพังผืดเป็นโรคใกล้ตัวและทุกคนมีโอกาสเป็นได้ เนื่องจากสภาพอากาศและมลภาวะในปัจจุบันส่งผลต่อสุขภาพทำให้เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง และมีโอกาสทำให้ปอดเป็นพังผืดได้มากขึ้นด้วย จึงอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพและมีความตระหนักถึงโรคปอดเป็นพังผืดด้วยเช่นกัน”

โรคปอดเป็นพังผืดเกี่ยวข้องกับโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอย่างไร?

โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง (Connective tissue disease; CTDs) เป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดการต่อต้านตัวเอง ประกอบด้วย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคหนังแข็ง โรคกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น มีผลทำให้เกิดอาการและอาการแสดงของอวัยวะต่างๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดพังผืดในปอด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีอวัยวะต่างๆ รวมถึงปอด เมื่อเนื้อเยื่อปอดเกิดการอักเสบจากโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง จะเรียกว่า โรคปอดอินเตอร์สติเชียลจากโรคแพ้ภูมิตนเอง (Connective Tissue Disease-Related ILD) จะทำให้ปอดเสียหายและเกิดพังผืด

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกโรคแพ้ภูมิตนเองจะทำให้เกิดปอดพังผืด การตรวจพบและวินิจฉัยภาวะปอดเป็นพังผืดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกมีความสำคัญ เนื่องจากหากมีการทำลายเนื้อปอดไปจนมีอาการเด่นชัด จะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งความชุกของการเกิดพังผืดในปอดจะแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคแพ้ภูมิตัวเองดังนี้:

  1. โรคหนังแข็ง (Systemic Sclerosis) : มากกว่า 50%1ของผู้ป่วยมีโอกาสเกิดพังผืดในปอดค่อนข้างเร็ว ตรวจคัดกรองหาภาวะโรคปอดอินเตอร์สติเชียล (ILD) โดยไม่ต้องรออาการ
  2. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) 2 : ในผู้ป่วยที่เป็นมานาน โรงเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ประมาณ 10-20% และในกลุ่มนี้มีประมาณ 40% ที่อาจเกิดพังผืดในปอด
  3. โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis/Dermatomyositis)3 : ประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยอาจเกิดพังผืดในปอด
  4. โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) 4 : ประมาณ 10% ของผู้ป่วยอาจมีภาวะปอดอักเสบที่นำไปสู่พังผืด
  5. โรคปากแห้งตาแห้ง (Sjogren Syndrome) ความชุกไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในผู้สูงอายุ ที่เป็นโรคมานาน

โรคปอดเป็นพังผืด มีความซับซ้อน และยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจากอาการคล้ายโรคปอดอื่นๆ ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษา อาการโรคที่บ่งชี้ ได้แก่ ไอเรื้อรัง หรือ หอบเหนื่อยมานานกว่า 2 เดือน โดยหาสาเหตุอื่นไม่พบ เมื่อฟังเสียงปอดพบเสียงผิดปกติที่ชายปอดทั้ง 2 ข้าง คล้ายเสียงลอกแถบตีนตุ๊กแก และออกซิเจนปลายนิ้วต่ำเมื่อออกกำลัง ดังนั้นหากสงสัยว่ามีอาการของโรคปอดเป็นพังผืดให้รีบปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อซักประวัติตรวจร่างกาย และส่งตรวจเอกซเรย์ปอดเบื้องต้น และเมื่อแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคปอดเป็นพังผืด จะส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น CT Scan, การทดสอบสมรรถภาพปอด หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะสามารถชะลอการดำเนินโรคและมีชีวิตได้นานขึ้น ปัจจุบันมียาต้านพังผืดที่ช่วยชะลอการดำเนินของโรคให้ช้าลง และลดโอกาสเกิดอาการกำเริบฉับพลัน

กิจกรรม “รักษ์ข้อดูแลปอดและอ้อมกอดแห่งรัก” จัดขึ้นโดยคณะทำงานโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ภายใต้สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ข้อแห่งประเทศไทย และ บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ ประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจโรคปอดเป็นพังผืด ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับโรคภูมิแพ้ตัวเอง แก่ผู้ป่วย รวมถึงภาคประชาชน สามารถคัดกรอง และวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที โดยภายในงานประกอบด้วยการเสวนาให้ความรู้เรื่องโรค และนโยบายการดูแลโรคหายากจาก นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแบ่งปันประสบการณ์เรื่องปอดจากคนไข้ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด (Pulmonary rehabilitation) การใช้ Oxygen บำบัด และการใช้ยาที่ถูกต้อง


You must be logged in to post a comment Login