- เรื่องยังไม่จบPosted 24 hours ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
วิธีการประเมินเครื่องบิน (เจ็ต) และเรือ (ยอร์ช)
คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 15 ต.ค. 67)
เศรษฐีที่รวยจริงๆ จะมีเรือยอร์ชและเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ซึ่งถือเป็นสังหาริมทรัพย์คือทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ (Moveable Properties หรือ Personal Properties) จะประเมินค่าอย่างไรดี บางคนก็บอกว่าซื้อเรือยอร์ช มีความสุขวันที่ซื้อกับวันที่ขาย (ยกภูเขาออกจากอก) แล้วเครื่องบินล่ะ สถานการณ์เป็นอย่างไร
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน กล่าวว่าที่ AREA รับประเมินราคาเครื่องบินมาหลายต่อหลายลำ รวมทั้งเรือยอร์ชและเรือเดินสมุทร ส่วนเรือหางยาวยังไม่เคยประเมิน เพราะไม่มีผู้จ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะราคาถูกเกินไป ไม่คุ้มที่จะเสียค่าวิชาชีพในการประเมินค่า
หลายคนมองว่าการประเมินค่าเครื่องบินหรือเรือทั้งหลาย รวมทั้งเรือยอร์ชนั้น ต้องใช้วิธีต้นทุน ดูการหักค่าเสื่อม และต้องรู้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการบิน (ในกรณีเครื่องบิน) จึงจะสามารถประเมินค่าได้ อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ถ้าจะประเมินว่าสภาพของเครื่องบินพร้อมบินหรือไม่ เครื่องยนต์กลไกเป็นอย่างไร กรณีนี้ต้องใช้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทีมงานมีเป็นสิบคน และค่าประเมิน-ทดสอบเป็นเงินมากกว่า 20-30 ล้านบาทต่อเครื่อง อันนี้ ดร.โสภณก็ประเมินไม่เป็นแน่นอน เพราะต้องเป็นวิศวกรในสาขานี้เท่านั้น แต่ ดร.โสภณสามารถประสานงานติดต่อกับทีมวิศวกรที่เชี่ยวชาญโดยตรงจากทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนการประเมินค่าของเครื่องบินตามปกตินั้น เขามีบันทึกการซ่อมบำรุงต่างๆ เราเพียงดูว่ามันครบถ้วนหรืไม่ มีอะไรหมดอายุบ้างหรือไม่ จำเป็นต้องถึงรอบซ่อมบำรุงครั้งใหญ่หรือไม่อย่างไร เคยมีปัญหาในการบินหรืออุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งหมดนี้มีอยู่ในบันทึกที่ต้องเปิดเผยและแสดงชัดเจนอยู่แล้ว ประวัติของเครื่องบินจึงมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก ส่วนประวัติการบำรุงรักษาของเรือ (ยอร์ช) ก็เช่นเดียวกัน มีบันทึกที่ชัดเจน มีกัปตันและเจ้าหน้าที่อื่นคอยตรวจสอบและบำรุงรักษาตามรอบเวลาอยู่แล้ว
ดังนั้นวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็วที่สุดก็คือวิธีการเปรียบเทียบตลาด ในตลาดเรือยอร์ชหรือเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ในท้องตลาดมีเครื่องบินเจ็ตและเรือยอร์ชมาตรฐานต่างๆ (ไม่ใช่แบบต่อเอง) อยู่มากมาย มีการประกาศขาย มีผลการขายของเรือและเครื่องบินรุ่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินค่าทรัพย์สินได้สบายๆ เครื่องบินและเรือทั้งเก่าและใหม่ยังสะท้อนให้เห็นถึงค่าเสื่อมตามระยะเวลาได้อีกด้วย
ข้อมูลต่างๆ ที่มีนั้น แม้บางส่วนจะมีในอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังอาจไม่ครบถ้วน หรือไม่มีจำนวนเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์ได้ ข้อมูลหลายอย่างก็ยังเป็นราคาเรียกขาย ซึ่งไม่มีรายงานราคาที่มีการซื้อขายจริง ดังนั้นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจึงนิยมซ้อข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเครื่องบินและเรือที่มีข้อมูลอยู่ครบถ้วนทั่วโลก เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองทางสถิติเพื่อวิเคราะห์หามูลค่าที่เหมาะสมของทรัพย์สินที่เราประเมิน ซึ่งยังความแม่นยำอยู่มาก ผู้ประเมินจึงต้องรู้แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และราคาขายของข้อมูลที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ราคาของข้อมูลอาจค่อนข้างสูง เช่น มีมูลค่าข้อมูลละนับพันหรือนับหมื่นๆ บาท ทำให้ค่าจ้างประเมินอาจจะสูง เช่น ถ้าเทียบกับราคาค่าประเมินโดยวิศวกรว่าเครื่องบินยังสามารถบินได้หรือไม่ มีอะไรต้องซ่อมใหญ่หรือไม่ ณ ราคา 20-30 ล้านบาท ค่าจ้างประเมินของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาจเป็นเงินราว 500,000 – 1,000,000 บาทเท่านั้นเพราะไม่ต้องไปตรวจสอบสมรรถนะของกลไกต่างๆ ของเครื่องบินนั่นเอง
ส่วนความคุ้มค่าของเงินหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เข้าทำนอง “คนรวยทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด” แม้จะขาดทุนก็ถือเป็นกำไร โดยเฉพาะกำไรในการโอ้อวด แถมยังอาจมีสังคมของคนมีเรือยอร์ช สังคมของคนมีเครื่องบินเจ็ต ซึ่งอาจนำไปสู่ความสำเร็จในอีกแง่หนึ่งก็ได้ เช่น เรือยอร์จลำหนึ่งราคา 200 ล้านบาท อาจมีค่าบำรุงรักษาปีละ 10% หรือ 20 ล้านบาท ราคาที่ซื้อมาวันนี้จะเหลือราว 60% หากเวลาผ่านไป 5 ปี แต่สำหรับเศรษฐีจริงๆ ก็คงไม่มีปัญหา
เรือยอร์ชและเครื่องบินเจ็ตยังอาจสามารถให้เช่าสร้างรายได้ได้อีกด้วย เช่น หากให้เช่าเรือโดยเรายังมีสิทธิ์ใช้เรืออยู่ประมาณ 15 วันต่อปี อัตราผลตอบแทนอาจอยู่ที่ 3% ของราคาเรือ ซึ่งก็ไม่มากนัก ไม่คุ้มค่ากับค่าเสื่อม แต่ก็อาจจะดีกว่าการปล่อยเรือไว้เปล่าๆ เพราะผู้เช่าก็จะดูแลเรือให้ด้วย หาที่จอดให้ด้วย เป็นต้น เรือยอร์ชที่ AREA เคยประเมินไว้ แม้จะไม่ได้ปล่อยเช่า (เพราะเจ้าของรวยสุดๆ) แต่ก็อาจชี้ได้ว่าทรัพย์สินประเภทนี้มีโอกาสสร้างรายได้ เช่นเดียวกับการนำเครื่องบินเจ็ตมาสร้างรายได้จากเที่ยวบินพิเศษต่างๆ
สำหรับรายละเอียดในการสำรวจตัวเครื่องบิน สำหรับตัวเรือในด้านต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการประเมินโดยวิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า และวิธีการเปรียบเทียบตลาด ก็คงไม่ได้แสดงให้เห็น ณ ที่นี้ แต่ทรัพย์สินมูลค่าสูงนี้ก็มักมีรายละเอียดให้ผู้ประเมินนำไปวิเคราะห์ได้ รวมทั้งที่มาของรายได้ต่างๆ จากตัวทรัพย์สิน (เครื่องบินและเรือ) เช่น จากการให้เช่าครั้งคราว หรือการให้เช่าเป็นรายปี ก็สามารถนำมาวิเคราะห์ได้
ท่านใดสนใจประเมินทรัพย์สินสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูง เช่น เรือยอร์ชหรือเครื่องบินเจ็ต ดร.โสภณ ช่วยได้แน่นอน
You must be logged in to post a comment Login