วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน = การกินดี มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีปลอดโรคNCDs

On October 19, 2024

การบริโภคอาหารนอกจากเพื่อการดำรงชีวิตแล้ว การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี แต่ในทางกลับกันหากบริโภคอาหารที่เป็นโทษ ไม่มีประโยชน์อาจนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยทางร่างกายได้เช่นกัน

แล้วการกินดีคืออะไร? อาจจะเป็นคำถามที่หลายๆคนข้องใจ ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและเครือข่ายได้จัดการประชุมเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมอาหารประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “การบูรณาการเครือข่ายอาหาร สู่การบริโภคที่สมดุล ด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน” บริโภคเพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของระบบอาหาร สอดรับกับคำขวัญของวันอาหารโลก (16 ต.ค.) ปี 2567 “Right to foods for a better life and a better future หรือ สิทธิในอาหาร เพื่อชีวิตที่ดี และอนาคตที่ดีกว่า”

นพ.พงศ์เทพ  วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตอาหารในระดับโลก ในปี 2566 พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนกว่า 36 ล้านคน จาก 32 ประเทศทั่วโลกขาดสารอาหารหรือมีภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้พลัดถิ่นจากวิฤตทั้งทางด้านความขัดแย้ง ภัยพิบัติและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และจากข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 โดย FAO พบประชากรเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งหิวโหยเฉียบพลันและเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย

สำหรับเด็กไทยมีภาวะผอม 5 – 10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่กลับสะท้อนว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย ที่สำคัญคือ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามความชอบ ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและการยกระดับรายได้ เนื่องจากขาดต้นทุน ทรัพยากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี จึงทำให้ประชาชนยังมีอัตราการบริโภคผักผลไม้ได้น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำขององค์การอนามัยโลก (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน)

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะสมดุล คือการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล  ดังนั้น  เพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนในประเทศ โดยสสส.และภาคีเครือข่ายมีเป้าหมายขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 มาตรการ 1.ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัย 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัยและการกระจายอาหารที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตอาหารขนาดเล็ก 3.สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย โดยเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ให้ได้ปริมาณที่เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก และลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า  สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ อาทิ 1.สร้างต้นแบบระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชน การใช้นวัตกรรมโปรแกรม Thai School Lunch เพื่อการบริหารจัดการเมนูอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักโภชนาการกว่า 1,000 เมนู และเชื่อมโยงผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่มาใช้เป็นวัตถุดิบในการจัดทำอาหารกลางวัน การขับเคลื่อนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการในโรงเรียน เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและการหมุนเวียนเศรษฐกิจอาหารในท้องถิ่น 2.ผลักดันนโยบายอาหารอินทรีย์ในโรงพยาบาล 780 แห่ง เพื่อจัดจำหน่ายและให้บริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 3.ขยายผลพื้นที่การจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพไปในชุมชนและห้างสรรพสินค้า “ตลาดเขียว” “สถานีเกษตรแบ่งปัน” กระจายทั่วประเทศกว่า 88 แห่ง ช่วยยกระดับรายได้ให้กับเครือข่ายเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจอาหารในชุมชน 4.จัดสภาพแวดล้อมลดอาหาร/เครื่องดื่มลดหวาน “โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมหวาน” “โรงพยาบาลอ่อนหวาน” “ร้านกาแฟหวานน้อยสั่งได้” กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการเข้าถึงโภชนาการอาหาร อาทิ 1.คู่มือมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา เพื่อยกระดับการจัดอาหารในสถานศึกษาให้มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยให้เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารกลางวันที่มีคุณค่าต่อร่างกาย และยังลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียน โดยเผยแพร่ไปใช้ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ 2.นวัตกรรมเครื่องมือ Chem Meter ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหารแบบพกพา 3.Daycare นมแม่และการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการดูแลพัฒนาการเด็กตามวัย รวมถึงการรณรงค์สื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ อาทิ แคมเปญ “หวานน้อยสั่งได้” “เมนู 2:1:1” “ลดหวาน มัน เค็ม” โดยมุ่งสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ

ดร.สุชีรา บันลือสินธุ์ เจ้าหน้าที่วิชาการด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย(WHO) กล่าวว่า ความเชื่อมโยงของกลุ่มโรค NCDs กับระบบอาหารที่ยั่งยืนพบว่า ความเปลี่ยนแปลงของระบบอาหารในปัจจุบันอาหารแปรรูปที่มีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเซียมสูงจะมีราคาถูกและเข้าถึงได้ง่าย ต่างกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่คนเข้าถึงได้ยาก เช่น มีราคาแพง ส่งผลให้มีความต้องการอาหารแปรรูปมากขึ้น บวกกับการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้น ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาวะโภชนาการโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และคนยากจน

ทั้งนี้เพื่อการป้องกันการเกิดโรค NCDs ที่เกิดจากการบริโภคอาหารนั้น ทุกภาคส่วนต้องรร่วมมือกันทำให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีโภชนาการที่เหมาะสมเข้าถึงทุกคนได้อย่างทั่วถึง ระบบอาหารและโครงสร้างการผลิตต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ดร.สุชีรา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวนั้นมีข้อเสนอแนะว่า รัฐจะต้องมีกลไกในการป้องกันนโยบายสาธารณะจากการผลประโยชน์ทับซ้อนและถือประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่สุด ส่วนภาคการศึกษาวิจัยมีการศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนานโยบายและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน  โดยมีการเชื่อมโยงที่สอดคล้องกับทางนโยบายและบูรณาการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง  และภาคประชาสังคมรณรงค์และเรียกร้องมาตรการทางอาหารและโภชนาการสร้างการสนับสนุนจากภาคประชาชนและติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ

“สรุปได้ว่าอาหารที่มีโภชนาการไม่เหมาะสม ภาวะทุพโภชนาการ และ NCDs มีความเกี่ยวข้องกับระบบการผลิต ขายและทำการตลาด และการบริโภคอาหาร การปฏิรูประบบอาหารเพื่อเพิ่มการผลิต การเข้าถึงและการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของNCDs องค์การอนามัยโลกเสนอทางเลือกมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาทุพโภชนาการและ NCDs อีกทั้งยังช่วยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อโลก” ดร.สุชีรา กล่าวสรุป


You must be logged in to post a comment Login