วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567

หมออนามัยบางขันใช้กลยุทธ์ “หันมาตรวจตับ-เลิกจับขวด”

On October 21, 2024

“เป็นคนที่ดื่มมาตลอด แต่จะมาดื่มหนักช่วงที่มีทำกิจการเป็นของตัวเอง ตอนนั้นประมาณ ปี 2565-2566” ดื่มมาทุกวันนั้นหลังเลิกงานกับเพื่อนบ้าง ลูกน้องบ้าง จนเจ้าหน้าที่เขามาชวนให้ตรวจค่าตับด้วยตนเอง พอตรวจครั้งแรกค่าเอนไซม์ตับสูงถึง 40 ยูนิต/ลิตร พอฟังเจ้าหน้าที่ รพ.สต.แนะนำและบอกถึงผลกระทบ ต้องยอมรับเลยว่าพอรู้ก็รู้สึกว่ากลัวตายเหมือนกัน จึงเลิกดิบเลิกดื่มเลย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในช่วงแรกๆของการเลิกดื่มมันก็มีบ้างที่รู้สึกเปรี้ยวปากตนใช้วิธีอมลูกอมแทน  หลังเลิกดื่มสิ่งที่ได้คือ ร่างกายไม่เหนื่อยง่าย มีเงินเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องไปจ่ายค่าเหล้า  ใครที่ยังไม่เลิกดื่มตนอยากให้เลิกดื่มมาเข้าโครงการ เพราะแค่ดูภายนอกเราอาจดูแข็งแรงปกติ แต่ข้างในเราไม่รู้หรอกว่ามันมีโรคอื่นแฝงอยู่ที่มาจากพฤติกรรมการดื่ม” สิ้นเสียงของ นางสาวปัทมา หมื่นศรี หรือเฟิร์น ชาวบ้านชุมชนบ้านสี่แยกสวนป่า ตำบลวังหิน อำเภอบางชัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของการเป็นนักดื่ม และเลิกดื่มได้เพราะจากการเข้าร่วมโครงการตรวจค่าเอนไซม์ตับ

นายธีระวัฒน์ แดงกะเปา  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสี่แยกสวนป่า (รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า) นักการสาธารณสุขดีเด่น “รางวัลชัยนาทนเรนทร” ปี 2556 กล่าวว่า สำหรับโครงการตรวจคัดกรองค่าตับในกลุ่มของผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นการตรวจค่าเอนไซม์ตับ เพื่อการเลิกดื่มโดยเครือข่ายหมออนามัยพัฒนาริเวศน์สุขภาวะชุมชน ลดปัจจัยเสี่ยงเลิกเหล้า ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เป็นโครงการที่ทำขึ้นมาเพื่อต้องการผ่าตัดความไม่รู้ด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเอาตัวรอดด้านสุขภาพได้ เริ่มจากการสแกนสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จำนวน 4,095 คน เราใช้วิธีการรักษาคนด้วยความรู้มากกว่ายา ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตได้ทั้งชีวิต ดีกว่าการรักษาคนด้วยยา โดยมีแกนนำชุมชนและ อสม.เป็นผู้นำและสร้างความรู้ให้กับประชาชน

“คนทั่วไปมีเฟอร์นิเจอร์เป็นข้าวของเครื่องใช้ แต่ตนอยากให้ทุกคนมีเฟอร์นิเจอร์สุขภาพประจำทุกบ้าน เช่น เครื่องตรวจวัดความดัน ปรอท เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของสุขภาพ ที่เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่มีต้นทุนต่ำ” นายธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้นายธีระวัฒน์ยังได้บอกถึงความสำเร็จของการดำเนินงานว่า การสร้างบุคคลต้นแบบที่มีความหลากหลาย โดยใช้กลุ่มเสี่ยงมาเป็นคนต้นแบบ ดูแลตนเองไม่ให้ป่วย เป็นการไม่เติมผู้ป่วยรายใหม่เข้าไประบบสุขภาพแล้วยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนในชุมชนด้วย

ดร.บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยฯ กล่าวว่า โครงการมีการประเมินและคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AUDIT Score) ทุกพื้นที่ รวม 14,161 คน พบเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการดื่มอยู่ในกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง (Hazardous Drinker) 4,515 คน คิดเป็น 31.88% ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบ และได้เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงให้ตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ โดยมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3,875 คน คิดเป็น 85.83% จากการตรวจเลือด ครั้งที่ 1 มีค่าเอนไซม์ตับผิดปกติ คือมีค่าเอนไซม์ตับเกิน 35 ยูนิต/ลิตร จำนวน 867 คน คิดเป็น 22.37% การตรวจเลือดครั้งที่ 2 ในช่วงก่อนเข้าพรรษาซึ่งห่างจากครั้งแรก 3 เดือน มีผลผิดปกติลดลงเหลือ 628 คน คิดเป็น 17.34% ผลจากตรวจค่าเอนไซม์ตับและกระบวนการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ จากการประเมิน AUDIT Score พบว่า ส่วนใหญ่ลด ละ การดื่ม โดยผู้ดื่มแบบติด (Alcohol depend) ลดลงจาก 16.31% เหลือ 13.83% และสามารถเลิกดื่มได้มากถึง 10% ซึ่งเครือข่ายหมออนามัย และสสส. รู้สึกภูมิใจและดีใจที่สามารถช่วยเหลือให้ประชาชนเลิกดื่มได้สำเร็จ

“ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะผ่านกระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วยกระบวนการและนวัตกรรมที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ โดยทีมหมออนามัยและเครือข่าย ในบางรายที่ผิดปกติมากจะปรึกษาและส่งพบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลในเครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อดูแลและรักษา โดยมีทีมสหวิชาชีพสุขภาพและ อสม. ติดตามเสริมพลังและเยี่ยมบ้าน ดูแลอย่างใกล้ชิด “ใกล้บ้านใกล้ใจ ห่วงใยสุขภาพ” เพื่อการลด ละ เลิกดื่มเหล้า ทั้งนี้จะมีการตรวจค่าเอนไซม์ตับและพฤติกรรมการดื่มอีกครั้งเมื่อครบ 3 เดือน” ดร.บุญเรือง กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่าข้อมูลสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบคนไทยไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 5.73 ล้านคน เคยดื่มหนักใน 12 เดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 10.05% เป็นเพศชาย 5.05 ล้านคน และเพศหญิง 0.68 ล้านคน นักดื่มหนักส่วนใหญ่ 4.36 ล้านคน หรือ 7.65% ดื่มหนักเป็นครั้งคราวเท่านั้น (ดื่มน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยภาคเหนือมีนักดื่มหนักสูงที่สุดคือ 13.01% แบ่งเป็นนักดื่มหนักประจำ 2.51% และนักดื่มหนักเป็นครั้งคราว 10.50% ขณะที่ภาคใต้มีนักดื่มหนักต่ำที่สุดคือ 4.62% อย่างไรก็ตาม ทุกภาคมีแนวโน้มมีนักดื่มหน้าใหม่ที่เริ่มดื่มอายุน้อยลงใกล้เคียงกันเฉลี่ยอายุ 20.32 ปี โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 1,677.23 บาทต่อเดือน โดยภาคใต้ มีค่าใช้จ่ายในการดื่มมากที่สุดคือ 1,557.39 บาทต่อเดือน รองลงมาคือ ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) 1,418.34 บาทต่อเดือน กรุงเทพฯ 1,256.93 บาทต่อเดือน ภาคเหนือ 886.55 บาทต่อเดือน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 824.68 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า  โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ สสส.ทำร่วมกับ ม.ทักษิณในการทำงานทุกพื้นที่ในประเทศไทยร่วมกับ รพ.สต.มากกว่า 80 แห่งทั่วประเทศไทยที่มาเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามาคัดกรองเรื่องของความเสี่ยงตับกับการดื่มสุรา จะมีการชักชวนผู้ที่ดื่มแบบมีความเสี่ยงให้ตรวจค่าเอนไซม์ตับเพื่อจะดูว่ามีค่าผิดปกติหรือเปล่า ซึ่งจากการคัดกรองพบว่ามีความผิดปกติอยู่ประมาณ 22% ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีคำแนะนำให้ ลด ละ เลิก ปรากฏว่าในกลุ่มนี้มี 10% ที่เลิกได้เลย ที่เหลือบางส่วนลดได้ทั้งในช่วงลดเหล้าเข้าพรรษา ทำให้เอนไซม์ในตับลดลงได้ 5% แปลได้ว่ากลุ่มคนที่เขาได้สัมผัสด้วยตนเองว่าตัวเองมีความเสี่ยง เข้าจะเปิดประตูรับว่า รู้ว่าร่างกายเขาเป็นอย่างไร และเริ่มมองเห็นว่าร่างกายเริ่มเพลียมากขึ้น นอนน้อย และเมื่อรู้ว่ามีค่าเอนไซม์ผิดปกติและเมื่อหยุดดื่มเขาจะรู้ว่าร่างกายเขาดีขึ้น มีพลังงานมากขึ้น ทำงานได้มากขึ้น ครอบครัวมีความอบอุ่นเพิ่มขึ้น เป็นรางวัลที่สำคัญที่ทำให้เขา ลด ละ เลิกได้ยาวนานขึ้น หรืออาจจะเปลี่ยนจากการดื่มหนักแบบเสี่ยงเป็นอันตราย มาเป็นการดื่มแบบมีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งยังสามารถลดอุบัติเหตุ และลดความรุนแรงในครอบครัวได้

“ในเรื่องของงบประมาณขณะนี้ได้มีความพยายามทำต้นแบบและอยากให้ ม.ทักษิณทำงานเชิงสถิติเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขว่ามันมีมูลค่าอย่างไร ซึ่งแนวทางนี้เราพยายามจะเสนอไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ให้เป็นการตรวจสุขภาพเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงจากการดื่มสุรา ซึ่งหากมาตรวจแบบนี้จะเกิดความคุ้มค่า ซึ่งจะเลือกเฉพาะเจ้ากลุ่มที่มีการดื่มแบบอันตราย จะทำให้เราสามารถคัดกรองได้ก่อนที่คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช ,มะเร็งตับในที่สุด” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


You must be logged in to post a comment Login