วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2567

จุดยืนของอิสลามเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายไต

On October 25, 2024

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 ต.ค. 67)

ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์  การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งเป็นเรื่องปรกติธรรมดาทางการแพทย์ไปแล้ว  จึงมีคนสงสัยและถามว่าอิสลามมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร

ในอิสลาม  ชีวิตเป็นของพระเจ้า  มนุษย์มีหน้าที่ต้องรักษาชีวิตทั้งคนและสัตว์อย่างสุดความสามารถ  ถ้าหากปฏิบัตตามเงื่อนไขต่อไปนี้ได้ กฎหมายอิสลามก็อนุญาตให้ทำได้ นั่นคือ

  1. การเปลี่ยนถ่ายไตไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่ถูกนำไตนั้นมา
  2. ผู้ให้ไตจะต้องทำไปโดยความสมัครใจของตัวเอง นั่นคือ จะต้องไม่ถูกบังคับหรือถูกกดดัน
  3. การเปลี่ยนถ่ายไตดังกล่าวเป็นหนทางสุดท้ายแล้วสำหรับการรักษาผู้ป่วย
  4. ความสำเร็จในการผ่าตัดจะต้องมีความเป็นไปได้สูงหรือแน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จจากทัศนะทางด้านศัลยกรรม
  5. จะต้องไม่มีการแลกเปลี่ยนหรือตอบแทนกันทางด้านวัตถุใดๆทั้งสิ้น

ถ้าหากว่าจะมีการนำอวัยวะจากผู้ตายมาเปลี่ยนถ่าย ผู้ตายจะต้องให้การยินยอมและจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขห้าประการดังกล่าวโดยครบถ้วนก่อนจะเสียชีวิตหรือได้รับการยินยอมจากทายาทหรือผู้ปกครองมุสลิมในกรณีที่ไม่รู้ว่าผู้ตายเป็นใคร

นักวิชาการและองค์กรอิสลามมากมายได้วินิจฉัยไปแล้วว่าการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายอิสลามซึ่งในจำนวนนี้ก็ได้แก่การประชุมอิสลามระหว่างประเทศในมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ.1969 และสภานิติศาสตร์อิสลามในการประชุมครั้งที่ 8 ในมักก๊ะฮฺ  หลักฐานสำหรับความถูกต้องตามกฎหมายอิสลามในเรื่องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะก็คือข้อความจากกุรอาน 2 : 173 ที่กล่าวว่า : “…แต่ถ้าผู้ใดตกอยู่ในภาวะจำเป็นอย่างยิ่งโดยไม่มีเจตนาจะฝ่าฝืนหรือละเมิดขอบเขต นั่นก็ไม่เป็นบาปสำหรับเขา   แน่นอน อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงให้อภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

ดังนั้น อัลลอฮฺได้แยกสถานการณ์ที่มีความจำเป็นออกจากสิ่งต้องห้ามแล้ว จึงไม่ต้องสงสัยว่าผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะนั้นตกอยู่ในภาวะจำเป็นเพราะชีวิตของเขากำลังได้รับอันตรายจากการล้มเหลวของไต หรือตับหรือหัวใจ  นอกจากนี้แล้ว อัลลอฮฺก็ทรงกล่าวว่า : “..และถ้าผู้ใดได้ไว้ชีวิตหนึ่ง มันก็เหมือนกับว่าเขาได้ไว้ชีวิตของมนุษย์ทั้งโลก” (กุรอาน 5:32)

นี่คือกฎทั่วไปซึ่งรวมถึงการช่วยใครคนหนึ่งคนใดให้พ้นจากความตายหรือการบริจาคอวัยวะให้แก่คนที่ต้องการ เช่น  การบริจาคดวงตาให้แก่คนตาบอดเพื่อให้คนผู้นั้นได้มองเห็น หลักฐานพิสูจน์ความถูกต้องในทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากมาย


You must be logged in to post a comment Login