วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มหาดไทย-สสส.-คมนาคมจับมือเครือข่ายเดินหน้าสร้างความปลอดภัยทางถนน

On October 31, 2024

มหาดไทย-สสส.-คมนาคมจับมือเครือข่ายเดินหน้าสร้างความปลอดภัยทางถนนระดับชาติ หนุนสร้างความเข้มแข็ง-ปลอดภัยทางถนนในไทย เปิดโอกาสการทำงานที่เชื่อมโยงทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และชุมชน ผ่านงานสัมมนาวิชาการระดับชาติครั้งที่ 16 ด้าน สสส.หวังปลูกฝังจิตใต้สำนึกในเด็ก เพื่อสร้างพฤติกรรมการใช้รถ ใช้ถนนอย่างปลอดภัย

ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ร่วมแถลงข่าวสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย” Road Safety Stronger Together

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2566 พบไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 18,218 ราย ติดอันดับ 18 ของโลก ลดลงจากอันดับ 9 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนประชากรอยู่ที่ 25 คนต่อแสนประชากร โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในกลุ่มอายุ 20-24 ปี คิดเป็น 9.83% และรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุด คิดเป็น 79.69% ในส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนปี 2565 สูงถึง 1,060,566 ราย ต้องใช้งบประมาณในการรักษากว่า 7,827 ล้านบาท เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไทยจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการสร้างแนวทางกลไกระบบความปลอดภัย หรือ Safe System Approach ด้วยการสร้างกลไกการทำงานที่แข็งแรง สร้างถนนที่ปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

“รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความปลอดภัยทางถนน จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565-2570 กำหนดนโยบาย และทิศทางการดำเนินงานในระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัดพร้อมระบบประเมินและติดตาม ผ่านจุดเน้นสำคัญ 4 ประเด็น 1. การจัดการอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 2. การจัดการอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต 3. การจัดการความเร็ว (speed management) พัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และการเดินทางที่ยั่งยืน 4. การติดตามและประเมินผล (monitoring and evaluation) ทั้ง 4 จุดเน้นต้องอยู่บนมาตรการที่สามารถดำเนินการได้จริง มีกลไกในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าลดอัตราการเจ็บ การตาย จากอุบัติเหตุทางถนน 50% ภายในปี 2573” นายไชยวัฒน์ กล่าว  

ทั้งนี้ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนที่จะไปสู่เป้าหมายให้ได้นั้น ต้องอาศัยภาคีเครือข่ายรวมทั้งภาครัฐและ สสส.ในการขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายของเราไม่อยากให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเลย แต่เมื่อมีแล้วเราจำเป็นต้องตั้งเป้าให้น้อยที่สุด เพราะค่าต่างที่เราตั้งไว้นั้นเป็นค่าของความสูญเสียทั้งการบาดเจ็บ เสียชีวิต เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้นการดำเนินงานที่ผ่านมาต้องมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลต่างๆ  เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ และเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นราจะต้องมีการขับเคลื่อนการทำงานตลอดทั้งปี ส่วนงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 จะเป็นเวทีที่นำเสนอข้อมูลทางวิชาการ และเปลี่ยนความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การจัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 เพื่อสานพลังร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างกลไกความปลอดภัยทางถนนให้เข้มแข็งมีวัตถุประสงค์ของการจัดงานคือ 1.เป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย 2. ติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานตามข้อเสนอนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นจัดการความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ เด็กและเยาวชน 3. สะท้อนข้อมูล สถานการณ์ องค์ความรู้ทิศทางนโยบายระดับประเทศและสากลเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และ 4. พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอชุดความรู้ งานวิจัย ผลงานวิชาการ เพื่อให้เกิดการนำไปปรับใช้และขยายผลในพื้นที่อื่นๆ และร่วมขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนในอนาคต 

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ได้กำหนดเป้าหมาย 1. เกิดข้อเสนอ และกำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เช่น กลุ่มเด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด มาตรการสวมหมวกกันน็อก 100%  การบังคับใช้กฎหมายดื่มแล้วขับกับการกระทำผิดซ้ำ 2. ติดตามความก้าวหน้า และผลการดำเนินงานตามข้อเสนอนโยบาย โดยเฉพาะความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ในเด็กและเยาวชน 3. สะท้อนข้อมูล สถานการณ์ องค์ความรู้ ทิศทางนโยบายระดับประเทศ และระดับสากล 4. เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอชุดความรู้ งานวิจัย ผลงานวิชาการ เพื่อให้เกิดการนำไปปรับใช้ และขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info พบว่า ประเทศไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก โดยภาพรวมอายุคาดเฉลี่ย 76.56 ปี ซึ่งผู้ชายจะมีอายุสั้นกว่าผู้หญิงเกือบ 9 ปี ข้อมูลจำนวนการตายจำแนกเพศ และกลุ่มอายุ ในช่วงปี 2561-2565 จากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 164,720 ราย แบ่งเป็น ผู้ชาย 115,161 ราย และผู้หญิง 49,559 ราย ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนเป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย โดยผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 5-44 ปี มากถึง 9,009 คน ถึงเวลาที่ไทยจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการ ค้นหาเทคนิค และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงค้นวิธีการจัดการปัญหาให้ลึกถึงรากของปัญหา เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน สสส.ได้ร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับภาครัฐ เอกชน เครือข่ายภาคี ภาคีเครือข่าย  โดยมีจุดเน้นสำคัญ 1. ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน 2. สร้างสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัย 3. พัฒนาการทำงานในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สำคัญ เพื่อสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และระบบแห่งความปลอดภัย ส่งเสริมการจัดการข้อมูล เทคโนโลยี เปิดโอกาสทุกภาคส่วนสังคมร่วมขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหาจากระดับฐานราก สร้างชุมชนท้องถิ่นที่ปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ไปถึงเป้าหมายในอนาคต

นอกจากนี้ นพ.พงศ์เทพ ยังได้กล่าวว่า สสส.จะโฟกัสการทำงานเรื่องความปลอดภัยทางถนนด้วยการสวมหมวกนิรภัยไปยังกลุ่มเด็กเล็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งการปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยทางถนน  จะเป็นการปลูกฝังจิตใต้สำนึกให้กับเด็กเล็กในประเด็นต่างๆได้ เช่น  การสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เมาไม่ขับ ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เรื่องงบประมาณการทำงานกับศูนย์เด็กเล็กที่จะได้รับงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทำให้ท้องถิ่นและพื้นที่ดำเนินการไปได้ทั่วประเทศ

ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนา และติดตามการสัมมนา ผ่านระบบออนไลน์โดยสามารถสแกน QR Code ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน หรือ หากมีข้อสงสัย สามารถสแกน QR Code เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16  วันที่ 20-21 พ.ย. 2567 นี้ ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี และทางออนไลน์


You must be logged in to post a comment Login