วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อึ้ง!เด็ก-ผู้หญิงไทยคือเหยื่อรับพิษควันบุหรี่มือสองในบ้าน

On November 8, 2024

ในเวทีการเสวนา “ฆาตกรที่มองไม่เห็น : คนไทยตายปีละเท่าไหร่จากควันบุหรี่มือสอง” พบหญิงไทยรับเคราะห์สูดดมควันบุหรี่มือสองมากติดอันดับ 5 ของโลก ยิ่งสูดดมมากเท่าไหร่ยิ่งเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม ส่วนเด็กได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ด้านหมอประกิต ชี้การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะในไทยยังทำได้ไม่ดี

หญิงไทยรับเคราะห์สูดดมควันบุหรี่มือสองสูงติดอันดับ 5 ของโลก

ที่โรงแรม VIC 3 Bangkok คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเรื่อง “ฆาตกรที่มองไม่เห็น: คนไทยตายปีละเท่าไรจากควันบุหรี่มือสอง”  

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยสถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสองว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2023 ทั่วโลกในแต่ละปีมีคนไม่สูบบุหรี่ตายจากควันบุหรี่มือสอง 1.3 ล้านคน (3,560 คนต่อวัน) ควันบุหรี่มือสองเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะปัจจุบันมีคนไทยที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 34 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบตัวที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะที่บ้าน ซึ่งอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วอยู่ในระดับที่สูงมาก จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562) พบคนไทย 70% ได้รับควันบุหรี่มือสอง ขณะที่การสำรวจของอังกฤษ ปี 2562 พบคนอังกฤษได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าไทย โดยในไทยผู้หญิงได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน 68% มากกว่าผู้ชายได้รับควันบุหรี่มือสองจากบ้าน 47%

ทั้งนี้อัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านของผู้หญิงอายุ 15-49 ปี จากประเทศต่างๆ พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลกถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารมะเร็งของประเทศอังกฤษ (British Journal of Cancer) ปี 2567 ยืนยันแล้วว่าการสูดควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมะเร็งเต้านมก็เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย รองลงมาคือ มะเร็งโพรงจมูก และมะเร็งหลังโพรงจมูก ตามลำดับ ส่วนในเด็กมีความสัมพันธ์ของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งสมอง

เด็กคือเหยื่อควันบุหรี่มือสองในบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กเป็นเหยื่อหรือเป็นคนที่เสี่ยงมากที่สุดของการได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเขาเป็นคนที่อยู่ในบ้านและปกป้องตนเองไม่ได้  เด็กที่ได้รับควันบุหรี่หรือไอจากบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่เท่ากับผู้ใหญ่ แต่เขาจะได้รับพิษมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่า และอัตราการหายใจของเด็กนั้นเร็วกว่าผู้ใหญ่จึงสูดดมได้เยอะกว่าและอวัยวะภายในเช่น ปอด ไต ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ รวมทั้งเด็กได้รับควันบุหรี่มือสามที่ตกอยู่ตามพื้นที่เขาคลานหรือเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ ทำให้ได้รับปริมาณสารพิษมากกว่าผู้ใหญ่ สรุปได้ว่า เด็กมีความเสี่ยงต่อควันบุหรี่มือสามมากกว่าผู้ใหญ่ 50-100% จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่บอกว่า มีคนเสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 8.7 ล้านคน และเสียชีวิตจากบุหรี่มือสอง 1.3 ล้านคน (เป็นเด็ก 65,000 คน)

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ในประเทศไทยพบเด็กอายุ 1- 5 ปี พักอยู่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่สูงถึง 55% โดยในกรุงเทพฯ พบมากที่สุด 62% งานวิจัยในไทยที่ศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หอบหืดและหลอดลมหรือปอดอักเสบพบว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคระบบหายใจส่วนล่างสูงขึ้นถึง 4 เท่า นอกจากนี้มีการนำเส้นผมของเด็กที่พักอาศัยในบ้านที่มีการสูบบุหรี่มาตรวจพบว่ามีปริมาณสารนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษในบุหรี่สูงกว่าค่ามาตรฐาน

“ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายเพราะมีกลิ่นหอม และไม่มีควันจากการเผาไหม้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วอันตรายจากการได้รับควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าประกอบไปด้วยสารนิโคติน PM2.5 โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง ดังนั้นบริเวณที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งคนที่สูบและไม่ได้สูบ งานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า การได้รับควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มขึ้น 1.06 เท่า โรคหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ภาวะหายใจลำบากเพิ่มขึ้น 1.53 เท่า โรคหอบหืดที่ควบคุมไม่ได้เพิ่มขึ้น 1.88 เท่า และภาวะเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว

การบังคับใช้ กม.ในไทยยังทำได้ไม่ดี เร่งผลักดัน กม.ห้ามสูบบุหรี่ในรถ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยของควันบุหรี่มือสอง อีกทั้งควันบุหรี่มือสองยังส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ทำให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกันง่ายขึ้น,เยื่อบุผนังภายในเส้นเลือดได้รับความเสียหาย,เลือดไปเลี้ยงเส้นเลือดหัวใจไหลช้าลง ,ความยืดหยุ่นของอัตราการเต้นของหัวใจลดลง และเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายกะทันหัน

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า  ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่การบังคับใช้กฎหมายของเรายังทำได้ไม่ดี แต่ประเทศอังกฤษมีการบังคับใช้กฎหมายการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะได้ 100% โดยคะแนนที่องค์การอนามัยโลกประเมินเราอยู่ที่ 6 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และมีการนำมาสูบในที่สาธารณะหรือออกสื่อทั้งที่ผิดกฎหมาย  หรือจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่ดีแล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย จึงอยากสื่อสารให้รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะมีบทเรียนจากต่างประเทศแล้วว่าประเทศที่บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างจริงจัง สามารถลดความเสี่ยงต่อการได้รับควันบุหรี่มือสองในคนไม่สูบลงได้ ลดความเสี่ยงของประชากรโดยเฉพาะเด็กต่ออันตรายจากควันบุหรี่ ส่วนเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้านั้นประเทศไทยเราไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับบุหรี่ไฟฟ้า

“อีกเรื่องที่คนมองข้ามคือการสูบบุหรี่ในรถ คุณรู้หรือไม่ว่าการสูบบุหรี่ในรถนั้นได้ทิ้งคราบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้าน นายรักษพล สนิทยา นักวิจัยแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองสูงถึง 20,688 รายต่อปี โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดคือ 9,080 ราย (44%) รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด 4,223 ราย (20%) มะเร็งปอดและหลอดลม 1,972 ราย (9%) และยังมีโรคอื่น ๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และมะเร็งเต้านม เมื่อคำนวณภาระโรคจากการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทย ปี 2562 โดยดูจากค่าการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย พบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะถึง 534,186 ปี ข้อมูลการศึกษาภารโรคระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD 2019) เปรียบเทียบการสูญเสียปีสุขภาวะทั่วโลก พบว่าภาระโรคจากควันบุหรี่มือสองของไทยอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย (117.1 ปีต่อแสนประชากร) ญี่ปุ่น (221.69 ปีต่อแสนประชากร) และอังกฤษ (154.48 ปีต่อแสนประชากร) ภาพของคนในรถ  ในปัจจุบันนี้คือเราทำกำลังผลักดันให้มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในรถ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

แนะไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้าน -เพิ่มมาตรการควบคุมพื้นที่สูบบุหรี่

นายรักษพล สนิทยา นักวิจัยแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานภาวะโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองสูงถึง 20,688 รายต่อปี โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดคือ 9,080 ราย (44%) รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด 4,223 ราย (20%) มะเร็งปอดและหลอดลม 1,972 ราย (9%) และยังมีโรคอื่น ๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และมะเร็งเต้านม เมื่อคำนวณภาวะโรคจากการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทย ปี 2562 โดยดูจากค่าการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย พบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะถึง 534,186 ปี ข้อมูลการศึกษาภารโรคระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD 2019) เปรียบเทียบการสูญเสียปีสุขภาวะทั่วโลก พบว่าภาระโรคจากควันบุหรี่มือสองของไทยอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย (117.1 ปีต่อแสนประชากร) ญี่ปุ่น (221.69 ปีต่อแสนประชากร) และอังกฤษ (154.48 ปีต่อแสนประชากร)

นายรักษพล กล่าวว่า ปัญหาของควันบุหรี่มือสองสรุปได้ว่า บุหรี่และยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญลำดับต้นๆของการสูญเสียสุขภาวะของประชากรไทย โดยเฉพาะในทารก เด็กเล็กและเพศหญิง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่สัมผัสปัจจัยเสี่ยงจากผู้อื่น ดังนั้นการลดภาระโรคและการตายจาควันบุหรี่มือสองต้องมีมาตรการทั้งการไม่สูบบุหรี่และควบคุมสถานที่สูบ

นอกจากนี้นายรักษพล ได้มีข้อเสนอแนะและการป้องกัน ดังนี้

-ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ “ไม่ควรสูบในบ้าน” เนื่องจากเป็นสถานที่ที่คนไม่สูบบุหรี่จะได้รับควันบุหรี่มือสอง

-การเพิ่มมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่ทำงานและสาธารณะ ควรมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการตายจากควันบุหรี่มือสองทั้งต่อเด็ก สตรี และผู้สูงวัย

-การสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับภัยของควันบุหรี่มือสองให้แก่ประชาชน ครอบครัวและสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักพิษของควันบุหรี่มือสอง


You must be logged in to post a comment Login