วันพฤหัสที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บิทคอยน์จะหมดค่าในภาวะสงคราม

On November 13, 2024

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  13 พ.ย. 67)

บางคนบอกว่าทองคำ 2,000 ล้านดอลลาร์มีขนาดการเก็บเท่ากับห้องขนาดเขื่องๆ ห้องหนึ่ง แต่ขนาดของบิทคอยน์อาจเป็นแค่ Thumb Drive อันเดียว หรือแค่จำรหัสผ่านได้ ก็เก็บรักษามูลค่าได้แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามขึ้นมา เราก็ไม่ต้องขนทองคำไปไหน ตราบเท่าที่เรามีรหัสผ่านของบิทคอยน์ ข้อนี้จริงหรือ

การพึ่งพาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิทคอยน์หรือหุ้นในภาวะสงครามนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่าง Starlink ซึ่งก็คือ “บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายดาวเทียม ถูกตั้งขึ้นและจดทะเบียนการค้าในปี 2017 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้ที่ติดตั้งจานรับสัญญาณสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งต่างจากอินเทอร์เน็ตแบบดั้งเดิมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอย่างการเดินสายไฟเบอร์ออปติก ที่มีข้อจำกัดคือติดตั้งได้ยาก โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่ค่อยมีโครงสร้างพื้นฐาน และข้อจำกัดอีกข้อคือการเดินสายสื่อสารจากเสาไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อเข้ามาในบ้านหรืออาคาร Starlink จะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลอยู่ระหว่าง 50-500 MBPS และมี Latency อยู่ที่ประมาณ 20-40 MS ซึ่งเทียบเท่ากับอินเทอร์เน็ตแบบเดินสายไฟเบอร์ออปติกในปัจจุบันได้ แต่มีราคาค่าบริการสูงกว่า” (CYN Communication: https://shorturl.at/c7yTN)

การพึ่งพาสินทรัพย์ดิจิทัลในภาวะสงครามมีความเสี่ยงในหลายระดับ เริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต แม้จะมี Starlink ที่ใช้ดาวเทียม Low Earth Orbit (LEO) ที่โคจรที่ระดับ 550 กิโลเมตร แต่ดาวเทียมเหล่านี้เป็นเป้าหมายง่ายสำหรับอาวุธต่อต้านดาวเทียม (ASAT) ที่หลายประเทศพัฒนาขึ้น การทำลายดาวเทียมเพียงไม่กี่ดวงในวงโคจรสำคัญก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ Kessler (https://shorturl.at/s7bM2) ได้ เมื่อเศษซากดาวเทียมชนกันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนทำให้วงโคจรนั้นใช้งานไม่ได้

ส่วนในกรณีเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งรองรับการรับส่งข้อมูลถึง 95% ของการสื่อสารระหว่างทวีป มีจุดเชื่อมต่อสำคัญ (Landing Point) เพียงไม่กี่จุดที่เป็นคอขวด เช่น ช่องแคบมะละกา ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือมหาสมุทรแปซิฟิก การตัดเคเบิลเพียงไม่กี่เส้นที่จุดยุทธศาสตร์สามารถตัดการเชื่อมต่อของทั้งภูมิภาคได้ แม้จะมีเส้นทางสำรอง แต่ Bandwidth จะลดลงอย่างมาก ทำให้การซิงค์ข้อมูล Blockchain หรือการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ทำได้ยากหรือไม่เสถียร

ยิ่งกว่านั้นระบบบิทคอยน์พึ่งพาการกระจายตัวของ Full Node ที่ต้องเก็บข้อมูล Blockchain ทั้งหมด แต่ในปัจจุบันมีขนาดเกือบ 500GB และต้องซิงค์ข้อมูลตลอดเวลา Node เหล่านี้ต้องการไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตที่เสถียร ในภาวะสงคราม โครงข่ายไฟฟ้ามักเป็นเป้าหมายแรกๆ การโจมตีสถานีไฟฟ้า สายส่ง หรือใช้อาวุธ EMP ที่สร้างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความเข้มสูง สามารถทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรัศมีกว้าง ระบบสำรองไฟฟ้าส่วนใหญ่รองรับได้เพียง 24-72 ชั่วโมง ดังนั้นระบบบิทคอยน์จึงอาจใช้งานไม่ได้

การทำธุรกรรมบิทคอยน์ต้องได้รับการยืนยันจาก Network ผ่าน Proof of Work ซึ่งต้องใช้พลังงานมหาศาล หากเหมืองขุดบิทคอยน์ในพื้นที่สำคัญถูกทำลายหรือไม่มีไฟฟ้า Hash Rate ก็จะลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การทำธุรกรรมช้าลงหรือมีค่าธรรมเนียมสูงขึ้นอย่างยิ่งยวด นอกจากนี้การโจมตี 51% จะทำได้ง่ายขึ้นหากมีการกระจุกตัวของอำนาจการขุดในบางพื้นที่นั่นเอง

ในส่วนของตลาดหุ้นนั้น ระบบการซื้อขายสมัยใหม่พึ่งพา Matching Engine ที่ต้องประมวลผลคำสั่งซื้อขายนับล้านรายการต่อวินาที Data Center ของตลาดหลักทรัพย์มักตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อลด Latency (เวลาที่เกิดขึ้นระหว่างการส่งข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังจุดอื่น https://shorturl.at/H63Wa) แม้จะมี Backup Site แต่การย้ายระบบต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยงสูง ระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing & Settlement) ที่ต้องผ่านตัวกลางหลายชั้น ทั้งโบรกเกอร์ ผู้รับฝากหลักทรัพย์ และสำนักหักบัญชี อาจหยุดชะงักได้หากจุดใดจุดหนึ่งมีปัญหา

การโจมตีทางไซเบอร์สมัยใหม่มักใช้ Zero-day Exploit หรือ Supply Chain Attack ที่แทรกมัลแวร์เข้าไปในซอฟต์แวร์ที่น่าเชื่อถือ เช่น กรณี SolarWinds ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ต้องอัพเดทซอฟต์แวร์บ่อยครั้งมีความเสี่ยงสูงต่อการโจมตีในลักษณะนี้ ขณะที่ระบบป้องกันแบบ Air Gap ที่ตัดการเชื่อมต่อจากภายนอกทั้งหมดก็ไม่สามารถใช้งานได้จริงกับระบบซื้อขายที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานจำนวนมาก

แม้บิทคอยน์จะมีการกระจายศูนย์ แต่การจะใช้งานได้จริงต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ทั้งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายแรกๆ ที่จะถูกโจมตีในภาวะสงคราม นอกจากนี้รัฐบาลมักออกกฎควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเข้มงวดในภาวะสงคราม เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ หรือการใช้เป็นช่องทางสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามt

ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่ามักปิดทำการในช่วงสงคราม บางครั้งปิดยาวนานหลายเดือนหรือหลายปี บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากอาจถูกระเบิดทำลาย ถูกยึด หรือล้มละลาย ทำให้หุ้นไม่มีมูลค่า ระบบการซื้อขายและชำระราคาที่ซับซ้อนอาจล่มสลาย โบรกเกอร์อาจปิดกิจการกะทันหัน ทำให้เข้าถึงพอร์ตการลงทุนไม่ได้  สงครามสมัยใหม่มักเริ่มต้นด้วยการโจมตีทางไซเบอร์และการทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ การพึ่งพาระบบดิจิทัลจึงมีความเสี่ยงสูง แม้จะมีระบบสำรองอย่าง Starlink แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะใช้งานได้จริงในภาวะสงคราม เพราะแม้แต่ระบบที่ซับซ้อนที่สุดก็ยังมีจุดอ่อนให้โจมตีได้เสมอ สินทรัพย์ที่จับต้องได้และใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจึงมีความปลอดภัยมากกว่าในยามวิกฤต

ทองจึงอาจเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด เล็กที่สุด เคลื่อนย้ายได้ง่ายที่สุดที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ และเมื่อสงครามสงบลงในวันหนึ่ง อสังหาริมทรัพย์ก็ฟื้นค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว  ผู้คนก็จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเพราะมีการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในกรณีของบิทคอยน์ อาจพังไปทั้งระบบ ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีก หรืออาจมีระบบอื่นที่ทดแทนออกมาในภายหลัง

บิทคอยน์จึงเป็นสิ่งที่ไร้ค่าตั้งแต่มีเค้าจะเกิดสงคราม ทุกคนจะเทขายหมด และโดยเฉพาะในช่วงสงครามที่แม้เราจะใช้เงิน 10,000 บิทคอยน์ก็อาจไม่สามารถแลกพิซซ่าได้แม้สักถาดเดียว


You must be logged in to post a comment Login