วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วอนรัฐกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นควบคุมเหล้าให้ชัดเจน

On November 18, 2024

เป็นที่จับตากันดูกันว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับใหม่ หน้าตาจะเป็นเช่นไร ตอบโจทย์ของสังคมได้หรือไม่ หวั่นถูกแทรกแซงจากนายทุน วอนรัฐกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจน สามารถออกแบบนโยบายของท้องถิ่นได้เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ ด้าน สสส.ย้ำมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ชูสงกรานต์ปลอดเหล้าคือตัวอย่างของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ นักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเพียบ

แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับใหม่ = ความกังวล นายทุนแทรกแซง

จากการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ : ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ในภาพรวมสิ่งที่นักวิชาการและเครือข่ายกังวลมากที่สุด คือ การถูกแทรกแซงจากกลุ่มนายทุนที่จะแฝงตัวเข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  การขยายเวลาจำหน่าย อีกทั้งท้องถิ่นยังไม่มีอำนาจในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันมาตรการบังคับใช้ กม.กับคนที่เมาแล้วขับที่ยังไม่เห็นมีการบังคับใช้ กม.อย่างจริงจังทำให้มีคนทั่วไปรวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงยังคงมีพฤติกรรมเมาแล้วขับให้เห็นตามที่เป็นข่าว

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การปลดล็อกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เท่ากับว่าเป็นการคลายมาตรการที่มีประสิทธิภาพ โดยให้ภาคการเมือง นโยบายและปัญหาเป็นการกำหนดระเบียบนโยบายเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งจะต้องไม่มีภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในเรื่องดังกล่าว

ท้องถิ่นย้ำการกระจายอำนาจ เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองแสงสุข จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประชาชนรู้จัก โดยเฉพาะชายหาดบางแสนเมื่อมีการปรับปรุงขึ้นมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีร้านที่มีจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นตามจำนวนของนักท่องเที่ยวไปด้วย ทำให้การควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ของท้องถิ่นทำได้ยาก เนื่องจากท้องถิ่นไม่มีอำนาจบังคับใช้ในกาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เต็มที่ได้แค่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตักเตือน

การทำงานของเมืองแสนสุขจึงต้องร่วมกับภาคประชาสังคมและสรรพสามิต  โดยใช้กฎกติกาสังคมเข้ามาช่วยในการควบคุมการดื่มนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ส่วนสรรพสามิตก่อนที่จะออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราได้นั้นต้องแจ้งมายังท้องถิ่นเพื่อดูว่าสถานที่ขอใบอนุญาตนั้นตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน หรือสถานที่ราชการหรือไม่ เพื่อช่วยไม่ให้มีร้านจำหน่ายอยู่ใกล้สถานศึกษาหรือที่ที่รัฐห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  รวมทั้งการจัดโซนนิ่ง จึงช่วยให้การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการควบคุมการดื่มและการจำหน่ายให้ถูกที่ถูกทาง

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจในการจัดการหรือควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน จึงอยากให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดโซนนิ่ง มีอำนาจในการจัดการ

จากแนวคิดของนายกเทศบาลเมืองแสนสุข ที่สอดคล้องกับแนวคิดของนางสาวจินตนา จันทร์โคตรแก้ว มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ(IHPF)  ที่กล่าวว่า การกระจายอำนาจ จะทำให้การขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัดทำได้ง่ายขึ้น ทั้งในเรื่องของการทำงานและงบประมาณ ที่ต้องขับเคลื่อนด้วยผู้นำชุมชนและภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การบริหารการจัดการภาคการเมืองมีความชัดเจนในทุกๆด้าน

สสส.ชี้สงกรานต์ปลอดเหล้าสร้างชื่อเสียงระดับโลก คือเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. จุดประกาย ให้เกิดบุคคล ชุมชน องค์กร และภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วน ที่มีความตระหนักต่อปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นให้เกิดการทำงานเชิงป้องกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะงานบุญประเพณีปลอดเหล้า หลายงานสามารถสร้างชื่อเสียงระดับโลก เช่น งานช้างสุรินทร์ปลอดเหล้า และงานสงกรานต์ถนนข้าวเหนียวปลอดเหล้า ซึ่งจากรายงานของ Technavio บริษัทวิจัยชั้นนำของโลก ระบุว่า ในช่วงปี 2562-2566 ตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ10% และรายงานจาก World Travel & Tourism Council ปี 2566 พบว่า 69% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตและความสนใจของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการจัดกิจกรรม/เทศกาลแบบปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ สสส. ที่มุ่งเน้นความสนุก ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพแบบยั่งยืน สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ได้มากขึ้น 

“ข้อมูลงานวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ปี 2564 ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 165,450.5 ล้านบาท คิดเป็น 1.02% ของ GDP เฉลี่ย 2,500 บาทต่อหัวประชากร แสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคม และภาคนโยบาย สะท้อนถึงความเข้มแข็งของทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าว

เสนอ 6 ข้อเรียกร้องต่อนักการเมือง พรรคการเมืองก่อนแก้ไข พ.ร.บ.เหล้า

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองผู้อำนวยการ ศวส. กล่าวว่า ศวส. และภาคีเครือข่ายขอเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงนักการเมือง ที่มีบทบาทในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ 1.ประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิชอบธรรมมีชีวิตที่ปลอดภัยจากผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดอันตราย ถือเป็นการละเมิดสิทธิ 2.ไม่ยินยอมให้มีการแทรกแซงหรือชักนำจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลุ่มธุรกิจที่มีผลประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3. การขายให้เด็กหรือผู้ที่มีสภาพเมา หรือมีการละเมิดกฎหมายอย่างจงใจซ้ำ ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้า ควรเพิ่มโทษทางปกครอง โดยการสั่งปิด หรือห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ หากกระทำผิดซ้ำอีกให้พิจารณายึดใบอนุญาต

4. บูรณาการระหว่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพ.ร.บ.สรรพสามิต เพื่อควบคุมการออกใบอนุญาต การระงับใบอนุญาต และเงื่อนไขการขายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการ 5. ควรมีแผนแม่บทในการเพิ่มภาษีเป็นระยะ ๆ เพื่อควบคุมการบริโภคให้ลดลง 6. การปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีทิศทางที่ลดการควบคุมวัน เวลา สถานที่ขายและดื่ม รวมถึงการโฆษณา โดยคณะกรรมการควบคุมมีอำนาจกำหนดข้อยกเว้นและกระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังคณะกรรมการควบคุมระดับจังหวัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการอนุญาต ควรมีการประเมินความเสี่ยงด้านผลกระทบโดยหน่วยงานทางวิชาการ และพิจารณาอย่างรอบด้าน

กมธ. วิสามัญฯเสนอกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น –ยืดหยุ่นการทำงานของคณะกรรมการ

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กล่าวว่า การประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งนี้ นับเป็นการขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งตนเป็นประธานกมธ. วิสามัญฯ ชุดนี้ ซึ่งมีการพิจารณาแก้ไขสาระสำคัญแล้ว คือ 1.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากเดิมที่อำนาจการออกกฎหมายอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยกระจายอำนาจผ่านคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นรองประธาน และมีตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน และภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยกำหนดคุณสมบัติไม่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าร่วมเป็นกรรมการฯ เพื่อป้องกันการออกฎหมายเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ

นายวิสาร กล่าวต่อว่า 2.เพิ่มความยืดหยุ่นการทำงานของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด เพื่อออกนโยบายที่เหมาะสมกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและผลกระทบของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการของร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ไปเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฯ แล้วเสร็จไปกว่า 80% คาดว่าจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมนี้ที่จะเปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ มั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทางสภาผู้แทนราษฎรจะนำเข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระต้นๆ


You must be logged in to post a comment Login