วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส. เปิดบ้านรับ 10 ประเทศ เอเชีย แชร์ประสบการณ์กว่า 20 ปี ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ

On November 19, 2024

Thai UHC Journey Workshop 2024 สสส. เปิดบ้านรับ 10 ประเทศ เอเชีย แชร์ประสบการณ์กว่า 20 ปี ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมสร้างความร่วมมือพัฒนาระบบสุขภาพระหว่างประเทศ-ลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดบ้านจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ระดับภูมิภาค เพื่อแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ในการสร้างเสริมสุขภาพในหัวข้อ “Thai UHC Journey Workshop 2024 การสร้างเสริมสุขภาพ: เส้นทางสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สุขภาวะที่ดี และยั่งยืน” ให้กบกับบุคลากรภาครัฐ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายงานวิจัยสุขภาพ และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมจาก 10 ประเทศในเอเชีย ได้แก่  มาเลเซีย บังกลาเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และไทย ตลอดจนผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) Vital Strategies และ Regional Laboratory on Urban Governance for Health and Well-being รวมจำนวน 25 คน เพื่อเน้นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพและสุขภาวะที่ยั่งยืน

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4  เพื่อเป็นเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนบทเรียนความสำเร็จด้านการสร้างเสริมสุขภาพของไทยที่หนุนเสริมต่อการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) และระบบสุขภาพองค์รวมที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของงานสร้างเสริมสุขภาพที่ไม่ใช่เพียงแต่การดูแลสุขภาพส่วนบุคคล แต่ยังเป็นเรื่องของการพัฒนานโยบายสาธารณะ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อทั้งในระดับบุคคล ชุมชน สังคม และระบบโครงสร้าง ที่สอดคล้องกฎบัตรออตตาวา เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2529

“ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญความท้าทายของยุคสมัยใหม่ที่มักจะทับซ้อนและเชื่อมโยงกัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ปัจจัยการค้ามีอิทธิพลต่อสุขภาพ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทำให้แต่ละประเทศจึงต้องพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนอย่างครอบคลุมและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยระบบสุขภาพที่แข็งแรง มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา ฟื้นฟู และการดูแลแบบประคับประคอง ทั้งนี้ การสร้างเสริมสุขภาพจัดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่มุ่งจัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพผ่านการบูรณาการหลายภาคส่วน จึงสามารถทำหน้าที่เป็น เส้นทางสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สุขภาวะที่ดีและยั่งยืน” ดร.ประกาศิต กล่าว

ดร.ทพญ.วริศา พาณิชย์เกรียงไกร ผู้จัดการแผนงานเสริมสร้างความเป็นผู้นำด้านสุขภาพโลก-ไทย ภายใต้กลยุทธ์ความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO-CCS EnLIGHT) กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพ และการลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชน คือรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพที่มั่นคง และสามารถพัฒนาให้เกิดการเข้าถึงงานบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การพัฒนาระบบสุขภาพได้ริเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2515 ที่ไทยมีนโยบายสาธารณสุขมูลฐาน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนโครงสร้างสาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ โดยก้าวสำคัญของไทยเกิดขึ้นในปี 2544 ที่มีการผลักดันการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และในปี 2545 ที่มีการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จ และอีกสิ่งสำคัญของระบบสุขภาพไทยมูลฐาน คือ ‘อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน’ (อสม.) ที่มีอยู่มากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข งานสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“บทเรียนสำคัญของเส้นทางการพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศไทย จะขาดไม่ได้เลยคือ ภาคนโยบายจะต้องพัฒนาและนำนโยบายสร้างเสริมสุขภาพไปสู่การปฏิบัติในทุกๆ ด้าน การมีโครงสร้างระบบสุขภาพที่จะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ นอกจากนี้สิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องครอบคลุมเรื่อง การสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคด้วย ท้ายสุดคือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคนโยบาย ภาควิชาการ  และภาคสังคม ในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสุขภาพ” ดร.ทพญ.วริศา กล่าว 

พญ. แคทเธอรีน แอน เรเยส (Dr. Katherine Ann Reyes) นักวิจัยหลักด้านงานสร้างเสริมสุขภาพจาก สถาบันสุขภาพ แห่งชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ เมืองมะนิลา กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ได้ร่วมเรียนรู้ประสบการณ์กว่าสองทศวรรษของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของสสส. และปัจจัยความสำเร็จของการปฏิรูประบบสุขภาพในไทย สำหรับฟิลิปปินส์แม้ว่าจะมีกฎหมายการสร้างเสริมสุขภาพรองรับ แต่การสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันของฝ่ายนโยบายและภาคประชาสังคมยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย ในฐานะนักวิชาการมองว่า กรณีศึกษาจากไทยจะช่วยให้ตนและทีมงานสามารถศึกษาวิจัยเพิ่ม เพื่อหาแนวทางในการนำเสนอกับภาคส่วนต่างๆให้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จกับการทำงานเรื่องควบคุมการบริโภคยาสูบ แต่แผนการทำงานเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังต้องพัฒนาในระยะยาว ควบคู่กับการสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ นำไปสู่การลดภาระของประเทศต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคตต่อไป


You must be logged in to post a comment Login