วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567

สปสช.-สสส.สานพลังภาคี ขับเคลื่อนพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2567

On December 11, 2024

สปสช.-สสส.สานพลังภาคี ขับเคลื่อนพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2567 สร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรค สสส. ชูไทยมีอายุค่าเฉลี่ยอันดับ 78 ของโลก สร้างสุขภาพเชิงรุกต่อสู้โรค NCDs ลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของประเทศ พัฒนาฐานข้อมูลร่วมกับชุมชนท้องถิ่น สู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 ที่โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค: กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มุ่งสู่การขับเคลื่อน และพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวงกว้าง สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค health promotion and disease prevention (P&P)

โดย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุม กล่าวว่า ความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ซึ่งรวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยมีความโดดเด่นและมีผลงาน เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ การประชุมนี้ยังเป็นการแสดงถึงพลัง และความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับโลก นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ การขยายเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพและการใช้เทคโนโลยี นำไปสู่การลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปี 2567 ไทยมีดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพอันดับ 5 ของโลก มีอายุค่าเฉลี่ยอันดับ 78 ของโลก แต่มีประชากรตายก่อนวัยสูงถึง 170,000 คน สาเหตุหลักมาจากโรค NCDs ที่มาจากพฤติกรรมทางสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา บริโภคหวาน มัน เค็ม ข้อมูลจากสปสช. ใช้งบรักษาโรค NCDs สูง 52% ของงบสปสช.ทั้งหมด หรือ 152,738 ล้านบาท เป็นค่ารักษาไตวายเรื้อรัง 13,506 ล้านบาท เบาหวาน 1,868 ล้านบาท โดยมีผู้ป่วยเบาหวานเข้ารับการรักษาเพียง 69% โจทย์ที่ท้าทายคือจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายจากโรค NCDs ที่สามารถป้องกันได้จากการลดพฤติกรรมเสี่ยงได้อย่างไร ทั้งนี้ ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อสร้างการทำงานเชิงรุกมากขึ้น สร้างสุขภาวะตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ โดยสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนตระหนักรู้ สามารถดูแลจัดการตนเองได้ ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ควบคู่ไปกับการจัดหาและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

 “2 ทศวรรษ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมส่งเสริม และป้องกันตั้งต้นไปจนถึงปลายน้ำ ตามกฎบัตรออตตาวา ที่สร้างเสริมสุขภาพให้บุคคล ชุมชน มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ ขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางสุขภาพ รวมถึงปรับระบบบริการสุขภาพ ส่งผลให้ไทยมีอัตราสูบหรี่ลดลงจาก 32% ในปี 2534 เหลือ 17% ในปี 2564 อัตราการดื่มหนักลดลงจาก 13.95% ในปี 2557 เหลือ 10% ในปี 2564 การผลักดันภาษีความหวานจากน้ำตาลทำให้การบริโภคน้ำตาลของคนไทยลดลงจาก 27 ช้อนชา/วัน ในปี 2559 เหลือเพียง 23.7 ช้อนชา/วัน ในปี 2564 จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เมื่อเทียบความคุ้มค่าการทำงานลดปัจจัยเสี่ยง และส่งเสริมสุขภาพพบว่าการลงทุน 1 บาทของ สสส.ในด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ผลตอบแทนทางสังคมกลับมาสูงสุดเท่ากับ 130 บาท ในส่วนประเด็นปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆอยู่ระหว่าง 6.2 -95 บาท” นพ.พงศ์เทพ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login