วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567

นักวิชาการสารเสพติดจับมือภาคประชาชน ยื่นประธานสภาฯขอเข้าชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่าง พรบ.กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

On December 20, 2024

นักวิชาการสารเสพติดจับมือภาคประชาชน  ไม่ทนหลังกัญชาถูกปล่อยเสรีกว่าสองปี ทำสังคมไทยมีโรคแทรกซ้อนจากพิษภัยกัญชา   ยื่นประธานสภาฯขอเข้าชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่าง พรบ.กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เตรียมล่า 30,000 รายชื่อหนุน หวังช่วยถ่วงดุล ลดผลกระทบ ได้ประโยชน์ทางการแพทย์จริง

​วันที่19 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. ณ อาคารรัฐสภา(เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เครือข่ายความร่วมมือภาคประชาสังคมที่ประกอบด้วย แกนนำชุมชน  ภาคประชาชน แกนนำเด็กและเยาวชน เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง  เครือข่ายผู้บริโภค  เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชนนักวิชาการ และอดีตข้าราชการ ได้ขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นเรื่องริเริ่มร่าง พระราชบัญญัติกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พ.ศ…. โดยมีนายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กับคณะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ประสงค์เป็นผู้เชิญชวน จำนวน 30 คน โดยมีนายคัมภีร์  ดิษฐากร  โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับเรื่องแทน

​นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กล่าวว่าจากสถานการณ์และมุมปัญหากัญชาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่มีผลมาจากเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเทศที่ 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้โดยกำหนด  “ ทุกส่วนของกัญชา” ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสอดคล้องกับที่รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยมีสาระสำคัญคือ การถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด หรืออาจกล่าวได้ว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2565 คือ การประกาศเสรีกัญชาแทบไร้ข้อจำกัด    สังคมไทยอยู่กับสถานการณ์เสรีกัญชามากกว่า 2 ปี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมต่อกัญชามีความคิดเห็นที่แตกต่าง อีกทั้ง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นประโยชน์และผลกระทบที่เกิดจากกัญชาก็มีให้เห็นอยู่ ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ และผ่านงานศึกษาวิจัยมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่ากัญชาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างเปิดเผยและมีผู้คนที่ได้ประโยชน์จากกัญชา และในขณะเดียวกันก็มีผู้คนในสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาเช่นเดียวกัน

​“การใช้กัญชาในทางประโยชน์ทางการแพทย์ เป็น ทางเลือกของประชาชนคนไทย เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยหรือกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เกิดรายได้จากการปลูกกัญชาหรือธุรกิจกัญชา แต่ข้อเท็จจริงพบว่า มีผู้ประกอบการจำหน่ายช่อดอกกัญชาเชิงนันทนาการ อยู่ทั่วประเทศ และซื้อดอกกัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท การใช้ช่อดอกกัญชาเกินความจำเป็นนั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กเยาวชน เกิดปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้กัญชาในปริมาณที่มากเกินไป หรือใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ภาพปรากฎการณ์กัญชาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทย ดังนั้นถึงเวลา ที่ควรต้องมีกฎหมายในการป้องกันและลดผลกระทบจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด” นายวัชรพงศ์ กล่าว

​นายวัชรพงศ์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายเห็นถึงประโยชน์และเห็นถึงผลกระทบจากกัญชา จึงได้รวมตัวกันนำข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน  มายกร่างพระราชบัญญัติกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พ.ศ…. ขึ้น บนความเชื่อว่า กัญชาเป็นพืชที่เป็นประโยชน์หากนำไปใช้ให้เหมาะสมและควรกำหนดมาตรการการป้องกันและควบคุมการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ ควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ บริโภคกัญชาและควรมีกลไกรูปแบบคณะกรรมการกัญชาเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการการควบคุมช่อดอกและสารสกัดดอกกัญชา และการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางสร้างสรรค์ ร่างพระราชบัญญัติกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พ.ศ…. นี้ เป็นเสมือนแนวทางหรือข้อตกลงร่วมที่จะทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้อยู่ร่วมกับกัญชาได้อย่างปลอดภัย ภายใต้หลักการสำคัญ ห้าประการคือ 1. ต้องปกป้องเด็กเยาวชนจากกัญชา  2 สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่สนับสนุนกัญชาเสรี  3 ต้องลดผลกระทบจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด 4.ผู้ป่วยต้องเข้าถึงกัญชาเพื่อรักษาได้โดยง่าย และ 5. ต้องคุ้มครองผู้บริโภค จากผลิตภัณฑ์กัญชง กัญชา


You must be logged in to post a comment Login