วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ARDA ปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรส่งท้ายปี “ARDA Impression Research 2025” โชว์ผลงานเด่นปี 67

On December 23, 2024

ARDA ปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรส่งท้ายปี “ARDA Impression  Research 2025” โชว์ผลงานเด่นปี 67 และแผนเดินหน้ายกระดับงานวิจัยเพื่ออนาคตเกษตรไทยที่ยั่งยืน

วันที่ 23 ธันวาคม 2567 ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร แถลงผลงานวิจัยและนวัตกรรมงานวิจัยปี 2567 และเปิดตัวแผนการขับเคลื่อนนวัตกรรมงานวิจัยในปี 2568 ภายใต้แนวคิด สร้างงานวิจัยอย่างไรให้โดนใจ ARDA “ARDA Impression Research 2025” มุ่งสนับสนุนงานวิจัยและและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ สร้างความท้าทายและผลกระทบเชิงบวกในทุกมิติแก่ภาคเกษตรไทย ให้ก้าวหน้าสู่มาตรฐานระดับโลกอย่างยั่งยืน

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการผสานความคิดสร้างสรรค์ เกษตรอัจฉริยะจึงเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรไทยโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี อาทิ โดรน ระบบฟาร์มอัจฉริยะ AI นวัตกรรมประหยัดพลังงานรวมถึงแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการ ฯลฯ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างแม่นยำ ลดค่าใช้จ่ายและการสร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าในภาคเกษตรแปรรูปรองรับการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA หน่วยงานบริหารจัดการทุนในระบบ ววน.และการกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารการวิจัยการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยมีเป้าหมายผลักดันให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัยภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตร(Agri-Tech) อาทิ เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล

เพื่อตอบสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ARDA เน้นการสนับสนุนทุนวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเห็นได้จากการก่อตั้งปี 2546 ตลอด 22 ปี ARDA ได้สนับสนุนโครงการวิจัยด้านการเกษตรตามภารกิจหลัก เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย รวม 2,961 โครงการ งบประมาณวิจัยกว่า 9,000 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2567 สามารถสนับสนุนโครงการวิจัยด้านการเกษตรได้จำนวน จำนวน 300 โครงการ งบประมาณ 923 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหา “มันสำปะหลัง” ด้วยการพัฒนาท่อนพันธุ์สะอาด กระจายสู่ชุมชน เพื่อตัดวงจรของโรคระบาด  เช่น โรคใบด่าง โรคพุ่มแจ้ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความเดือนร้อนให้เกษตรกร รวมถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีการปลูกพืชหลังนาเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร การพัฒนาเครื่องจักรกล

ด้านการเกษตร นอกจากนี้ ยังเน้นการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายงานวิจัยระดับประเทศ อาทิ การจัดอบรมหลักสูตร “การผลิตกาแฟอะราบิกาเชิงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร” โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรยูนนาน มหาวิทยาลัยแห่งแรกของจีนที่เปิดหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมกาแฟ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำเพิ่มประสิทธิภาพการทำน้ำฝน ซึ่งจะสามารถกำหนดจุดที่ฝนตกได้ และจากการสุ่มประเมินผลประโยชน์จากโครงการวิจัยเฉพาะปี 2567 ภายใต้การดำเนินงานของ ARDA จำนวน 41 โครงการ งบประมาณ 191.48 ล้านบาท พบว่าสามารถก่อให้เกิดมูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม รวม 4,232 ล้านบาท

“ด้านการขยายผลงานวิจัยและขยายสู่การใช้ประโยชน์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ARDA สามารถขยายผลสู่เกษตรกรได้ทั้งสิ้น 1,081 โครงการ โดยในปีงบฯ 2567 ได้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงนโยบาย สาธารณะ และพาณิชย์ จำนวน 182 โครงการอาทิ การบริหารจัดการขยะอาหารเชิงบูรณาการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ และโคนมด้วยสมุนไพรไทยโดยใช้พริกป่นและขมิ้นชันในอาหารสัตว์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งสามารถลดการใช้ยาฏิชีวนะได้ร้อยละ 45.22 คิดเป็นมูลค่า 513.76 ล้านบาท การเพาะพันธุ์หอยแครง เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการชายฝั่ง เป็นต้น”

สำหรับในปี 2568 นี้ ARDA  ได้กำหนดแผนการจัดสรรทุนและกรอบการสนับทุนวิจัยวิจัย ทั้งในส่วนของการสนับสนุนงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ (SF) และ การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU)  5 หมวด ดังนี้

1. การพัฒนากระบวนการผลิตและการตลาดของอาหารและผลไม้ไทยคุณค่าสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ

2. การพัฒนากระบวนการผลิตและการตลาดของผลิตผลทางการเกษตรและเกษตรแปรรูป

3. การพัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบทและเมืองให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

4. Smart Farming ที่ครบห่วงโซ่คุณค่าสำหรับเกษตรกรยากจนในชุมชน

5. แก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติด้านนิเวศน์เกษตร (น้ำ ป่าไม้ ที่ดิน)

6. เทคโนโลยี นวัตกรรมต้นแบบ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ที่ผ่านมานวัตกรรมงานวิจัยของ ARDA ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ นักวิจัย และเกษตรกร และจากกการประเมินภาพรวมของ ARDA จำนวน 244 โครงการ (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 – 2566) สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 15,550 ล้านบาท และใน ปี 68 นี้ ทาง ARDA ยังคงสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมงานวิจัยที่มีอิมแพคสูง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเน้นงานวิจัยมุ่งเป้าผลสำเร็จที่ กสว. กำหนดเป็นนโยบาย เช่น การพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้สินค้าไทยปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) ซึ่งหากไม่เร่งสร้างความเชื่อมั่นไทยจะได้รับผลกระทบถึง 60,000 กว่าล้านบาท นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเกษตรมาขยายผลให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มรายได้ ครัวเรือน ร้อยละ 20 ต่อปี/ สำหรับครัวเรือนเกษตรกรเป้าหมาย 20,000 ราย ภายในเวลา 2 ปี ซึ่งจะเป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ ธกส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา และในส่วนของงานที่เป็นไปตามนโยบายหลักของภาคการเกษตร ARDA ยังร่วมขับเคลื่อนในส่วนของการแก้ไขปัญหา PM 2.5 และเรื่องของการบริหารจัดการน้ำร่วมกับวช. และสกสว. ”

ดร.วิชาญฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ARDA ถือเป็นองค์กรที่สนับทุนวิจัยการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เกษตรกร นักวิจัย และผู้ประกอบการต่างสนใจ ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้สนับสนุนทุนนวัตกรรมงานวิจัย แต่ยังมั่นใจว่าทุกผลงานวิจัยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน


You must be logged in to post a comment Login