วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2567

เครือข่ายทันตาภิบาล ทันตสาธารณสุข “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”

On December 23, 2024

วันที่ 21 ธันวาคม 2567 ทางหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร พิษณุโลก และสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพวิชาชีพทันตสาธารณสุข กับการควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในชุมชน ให้กับสมาชิกทันตาภิบาลหรือทันตสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนรวมถึงบุคคลที่สนใจ และร่วมกันประกาศจุดยืน “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”

นางสมบูรณ์  ศิลากุล นายกสมาคมทันตภิบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ประเด็นปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย คือ การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน นอกจากบุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางจิต ยังก่อให้เกิดการเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขและเป็นปัญหาสังคมของประเทศไทย เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ ทางสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทยในฐานะเครือข่ายทันตบุคลากรที่ทำงานด้านการดูแลส่งเสริมสุขภาพช่องปากของประชาชนในพื้นที่มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้กับหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ทันตาภิบาล หรือทันตสาธารณสุข และทันบุคลากรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนและประชาชนที่สนใจด้านการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นแก่สังคมให้ทราบถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป

อ.ศักดิ์สิทธิ์  คำเกาะ เลขานุการสมาคมทันตภิบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทันตาภิบาลหรือทันตสาธารณสุข เป็นสาขาหนึ่งของสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต อดีตคนเรียกว่าทันตาภิบาล ทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปาก และรักษาทางทันตกรรมเบื้องต้น เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์  พวกเราคือผู้จัดการสุขภาพช่องปากของประชาชน โดยอยู่ในการกำกับของทันตแพทยสภา ซึ่งการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า จัดเป็นส่วนหนึ่งของงานการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในช่องปาก ที่สร้างความรอบรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งเรื่องสุขภาพและความเสี่ยงต่อกฎหมาย เรายืนยันชาวทันตาภิบาล “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”

ผศ.(พิเศษ) ดร.สมตระกูล ราศิริ รองเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า กิจกรรมการอบรมในครั้งนี้ ทางสภาการสาธารณสุขชุมชนได้พิจารณาให้หน่วยคะแนนวิชาชีพอยู่ที่ 6 หน่วย ซึ่งการอบรมครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ทันตบุคลากรที่มีใบอนุญาตวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนได้มีความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนี้ ที่สำคัญเป็นงานส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ด้วย จึงขอเชิญชวนทันตาภิบาลหรือทันตสาธารณสุขสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชน ทุกท่านมาร่วมกันในการปกป้องเด็กเยาวชนจากภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และร่วมสนับสนุนประกาศจุดยืน ชาวทันตาภิบาล “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) กล่าวว่า ต้องขอบคุณทางสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทยและบุคลากรทันตสาธารณสุข ที่เห็นถึงความสำคัญของการทำงานควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน และประกาศยืนยันไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า เพราะ บุหรี่ไฟฟ้า คือ สารเสพติด ซึ่ง 7 ใน 10 ของเด็กไทยที่เสพติดนิโคตินจากบุหรี่จะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ซึ่งสมองเด็กอยู่ในช่วงของการพัฒนาและเติบโตจึงเสพติดนิโคตินได้ง่าย ปัญหาการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศไทย คือ การที่กลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามีการแทรกแซงนโยบายผ่านกลไกทางการเมือง เพื่อให้มีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกกฎหมายซึ่งส่งผลต่อการแพร่ระบาดไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนจนไม่อาจจะควบคุมได้

อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้จัดการหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร พิษณุโลก และสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทยที่ช่วยผลักดันให้เกิดกิจกรรมดีๆในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งทางโครงการเราได้ดำเนินการอบรมไปทั้งสิ้น 3 ครั้งได้แก่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 วันที่ 14 และ 20 ธันวาคม 2567 โดยมีผู้ลงทะเบียนที่สามารถเข้าอบรมทั้งสิ้นตลอดโครงการ 1,500 ท่าน โดยมีผู้สนใจสมัครกว่า 5,000 คน ซึ่งวิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร.สมตระกูล ราศิริ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย อ.ดร.ปริญญา จิตอร่าม ผศ.สุนารี ทะน๊ะเป็ก อ.ศักดิ์สิทธิ์  คำเกาะ อ.นิวัฒน์ วงษ์ใหญ่ มุกดา อ.ศรีลา อ.ภาณุรักษ์ แก้วน้อย และ ผศ.ดร.สุภา วิตตาภรณ์ ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นบุคลากรและคณาจารย์ทางด้านสาธารณสุขที่มีความรู้ความสนใจทางด้านการควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างดี และเราทุกท่านต่างเห็นพ้องกันว่า “ทันตาภิบาล ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” และขอเรียกร้องให้รัฐสภา ‘ยังคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ เพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็ก และให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ มากกว่าผลกำไรและภาษี ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และไม่เรียกรับผลประโยชน์ โดยพวกเราจะร่วมเฝ้าระวัง และเปิดโปงกลยุทธ์การตลาดของผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าเยาวชน และกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายของเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านองค์กร บุคคล สื่อ ให้สังคมรับรู้ และจะร่วมมือกันส่งเสริมไม่ให้การสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมของสังคมและเยาวชน เพื่อปกป้องสุขภาพของตนเองและผู้อื่น


You must be logged in to post a comment Login