- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 1 month ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 1 month ago
- โลกธรรมPosted 1 month ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 1 month ago
- สลายความเกลียดชังPosted 1 month ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 1 month ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 1 month ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 1 month ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 1 month ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 1 month ago
ดึงแนวร่วมฟันน้ำนมต้านบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า ใช้นิทานสร้างองค์ความรู้

เมื่อพูดถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดอยู่ในกลุ่มของเด็กประถมรวมถึงวัยรุ่นและวัยทำงาน ใครจะคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นจะให้โทษมากกว่าบุหรี่มวนเสียอีก นอกจากพิษภัยที่เกิดกับตัวผู้สูบแล้ว ควันบุหรี่มือสอง มือสามและสารตกค้างของบุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลกระทบต่อเด็กเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากภาครัฐยังไม่มีมาตรการควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่ดี อนาคตประเทศไทยจะเต็มไปด้วยประชาชนที่เจ็บป่วยจากควันบุหรี่เป็นจำนวนมาก
“จากประสบการณ์ของหมอที่รักษาคุณตาคนหนึ่งด้วยโรคปวดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งหมอพยายามบอกให้คุณตาเลิกสูบบุหรี่ แต่ก็ไม่ได้ผล จนวันหนึ่งที่หลานของคุณตาเข้ารับการรักษาที่มีสาเหตุมาจากควันบุหรี่ที่คุณตาสูบ นั่นแหละถึงทำให้คุณตาเลิกสูบบุหรี่ได้”
จากประสบการณ์ตรงของ พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของควันบุหรี่มือสองที่มีผลกระทบกับเด็กเล็กในบ้าน ในงานเสวนา“ร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและเรียกร้องให้สังคมและผู้ปกครองร่วมกันปกป้องเด็ก ๆ จากภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และอย่ายอมให้ลูกหลานกลายเป็นเหยื่อเสพติดนิโคติดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีบุคลากรจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยผู้ปกครอง และเด็กเล็ก เข้าร่วม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์
ปอดเด็กเล็กกว่าปอดผู้ใหญ่ หายใจเร็วรับควันพิษได้มากกว่า

ด้าน พญ.พิมพ์ชนก กล่าวว่า อันตรายและผลกระทบของควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามือสองต่อเด็ก น่าตกใจมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กทารกและเด็กเล็กมีปอดและระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที ไม่สามารถต่อสู้กับสารพิษได้ดีเท่าผู้ใหญ่ เด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่า ทำให้สูดดมสารพิษเข้าไปในปริมาณมากกว่า หากเด็กได้รับควันมือสองจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ในระยะสั้นจะทำให้โรคหืด ภูมิแพ้กำเริบ เกิดโรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า
ในระยะยาวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม มีสมรรถภาพปอดเสื่อมถอย ปริมาตรปอดลดลงและก่อให้เกิดมะเร็งปอด ในขณะที่ผลของบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อระบบประสาทต่อเด็กและเยาวชนในทุกช่วงอายุ ส่งผลเสียต่อสมาธิ ความจำ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง รวมถึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าด้วย ผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดชนิดอื่นด้วย

ที่ผ่านมา ได้มีการประเมินเจตคติของเด็กที่มีต่อการสูบบุหรี่ในปี 2567 ใน กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กเล็ก อายุ 3-4 ปี จำนวน 837 คน โดยภาคีโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก 15 แห่ง จาก 9 จังหวัด พบว่า 99.6% รู้สึกไม่ชอบ เมื่อพบเห็นคนสูบบุหรี่ 99.8% รู้สึกไม่ชอบ เมื่อมีคนมาสูบบุหรี่ในบ้าน หรือ ใกล้กับบริเวณบ้านของตนเอง 99.8% คิดว่าบุหรี่มีกลิ่มเหม็น
“ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าเสพแล้วไม่ติด แต่ความจริงคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา รูปแบบและขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวน ทำให้ผู้สูบยังคงติดในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่มวน โฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้ามีการเน้นถึงข้อดีบางอย่างที่เหนือกว่าบุหรี่ เช่น การมีรสชาติที่หลากหลายกว่า ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยและหลากหลายกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ดึงดูดและทำให้ผู้สูบมีแนวโน้มที่จะติดกับการสูบได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการโกหกหลอกลวงผู้บริโภคทั้งสิ้น” พญ.พิมพ์ชนก กล่าว
คนส่วนมากไม่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ควันบุหรี่ส่งผลกระทบเด็กเล็ก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ได้ดำเนินโครงการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพื่อปกป้องเด็กเล็ก (Gen Alpha) คือกลุ่มเด็กแรกเกิด-7 ปี จากการได้รับควันบุหรี่ในบ้าน จึงได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านสื่อรณรงค์กล่องออมสินสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “ค่าบุหรี่ของพ่อ หนูขอเป็นค่าขนม” ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัด กทม. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 718 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนที่จนที่สุดที่มีรายได้ต่อเดือนแค่ 1,043 บาทเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครูให้รู้เท่าทันโทษ พิษภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้บ้านปลอดจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนปลูกฝังให้เด็กเล็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
“ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้เราจะสร้างความตื่นตัวให้กับพ่อแม่ ที่นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ซึ่งถ้ามีคนสูบบุหรี่ในบ้านจะเป็นต้นแบบให้กับเด็ก เมื่อโตขึ้นเด็กจะเกิดความอยากลองมากกว่าเด็กที่ไม่มีต้นแบบสูบบุหรี่ในบ้าน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ยังมีคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมากที่มีความเข้าใจผิดๆว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย หลายคนจึงสูบบุหรี่ในบ้านและที่ทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรณรงค์กันต่อไปให้รับรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายเท่ากับหรือมากกว่าบุหรี่มวน นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยจากอังกฤษที่กำลังจะเปิดเผยในเร็วๆนี้ ว่า มี 3 กรณีที่บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าบุหรี่มวน คือ 1.ทำให้สมองเสื่อม 2.เกิดโรคหัวใจ 3. เกิดโรคปอด เพราะว่าคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะได้รับนิโคตินมากว่าคนที่สูบบุหรี่มวน สาเหตุที่บุหรี่ไฟฟ้ามีความหอม สูบสะดวก ไม่มีการหมดมวน ไม่มีหมดซอง สูบที่ไหนก็ได้ สาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมากได้รับนิโคตินเกินขนาดที่จะส่งผลต่อสมองและหัวใจ
การทำงานในครั้งนี้มุ่งเจาะที่กลุ่มเด็กเล็กในบ้าน ที่มีสาเหตุมาจากการทำงานของหมอเด็กที่พบว่า เด็กป่วยเนื่องมาจากมีพ่อแม่หรือคนในบ้านสูบบุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน ที่พบว่าควันบุหรี่มือสองมือสามและสารเคมีที่ตกค้างอยู่ภายในบ้านมีอันตรายต่อเด็กเล็ก
ใช้นิทานสร้างภูมิความรู้ให้เด็กเล็กพ้นภัยบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า

อาจารย์ชีวัน วิสาสะ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมนิทานสำหรับเด็ก กล่าวว่าตัวนิทานจะถูกออกแบบมาโดยคนที่ทำงานด้านเด็กและวรรณกรรม ซึ่งคนที่ทำงานด้านนี้จะรู้ถึงรูปแบบการสื่อสารที่เราใช้คำว่าเป็นการออกแบบสื่อสารสำหรับเด็กให้รับรู้เข้าใจในประเด็นต่างๆ ซึ่งเราจะเอาข้อมูลมาเป็นเรื่องราว
ดังนั้นคำว่านิทานก็เหมือนกับขนม เมื่อเด็กได้ยินคำว่าขนมก็จะเกิดความสนใจขึ้นมาทันที นิทานที่ถูกออกแบบมาแล้วก็จะทำให้เด็กสนใจทันที การทำงานต้องใช้ภาษาภาพ ซึ่งการออกแบบภาษาภาพจะต้องทำให้เด็กสนใจ เพื่อจะดึงดูดเด็กให้มาสนใจ
ผลลัพธ์ที่ได้คือ เมื่อพ่อแม่เล่านิทานให้เด็กฟังประเด็นและเรื่องราวของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องราวที่คำนิทานต้องการให้เด็กได้รับรู้ แต่ในขณะที่เปิดเรื่องราว พ่อแม่ก็เปิดรับด้วย ข้อมูลต่างๆจะสะท้อนหมุนเวียนกันไประหว่างพ่อแม่ลูก ทั้งนี้จะขึ้นอยู่ว่านิทานแต่ละเล่ม แต่ละเรื่องจะมีลูกเล่น สื่อสารอย่างไรให้เด็กเข้าใจที่จะต้องมีความหลากหลาย เพราะว่านิทานบางเรื่องไม่ถูกใจเด็ก จึงจำเป็นต้องอาศัยนักวรรณกรรมเด็กหลายๆคนมาช่วยออกแบบหนังสือนิทาน หนังสือภาพเพื่อสื่อสารประเด็นดังกล่าวให้เด็กเข้าใจ

สำหรับนิทานที่สร้างความรู้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จะมีความหลากหลายรูปแบบที่มีทั้งนิทานภาพ นิทานทั่วไป และนิทานที่เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการอ่าน เพื่อให้เด็กได้ค้นหาสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากให้เด็กได้รับรู้
ส่วนเรื่องเนื้อหา ที่ได้วางไว้คือ ให้เข้าใจเรื่องถึงอันตรายของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าในหลายๆมิติ ขึ้นอยู่กับว่านักเขียนจะเลือกในมุมไหนที่จะสื่อสาร
อาจารย์ชีวัน กล่าวว่า เด็กเล็กมีอิทธิพลต่อการเลิกบุหรี่ของพ่อแม่อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวของพ่อแม่อย่างแน่นอนเพราะว่าพ่อแม่ก็มีหลายรูปแบบ หลายระดับความคิด ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เพิ่งเกิด มันมีมานานกว่า 10 ปีมาแล้ว ด้วยรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปมีทอยพอดขึ้นมา จึงต้องมีการณรงค์ขึ้นมา ดังนั้นหนังสือนิทานจึงเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้มีการรับรู้ถึงอันตายของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กเล็กและผู้ปกครอง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กนำหนังสือนิทานนี้ไปจัดพิมพ์และแจกจ่ายตามศูนย์เด็กเล็ก สถาบันการศึกษา
You must be logged in to post a comment Login