- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 2 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 2 months ago
- โลกธรรมPosted 2 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 2 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 2 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 2 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 2 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 2 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 2 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 2 months ago
โซเชียลฯ ถกเดือดปม “งานศพ” ค่าใช้จ่ายสูง “เครือข่ายงดเหล้า” แนะชุมชน เดินหน้างานศพปลอดเหล้า หลังพบค่าใช้จ่ายสูง

จากกรณีมีผู้ใช้เฟสบุ๊คหญิงรายหนึ่ง ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2568 โดยเล่าถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพกว่า 300,000 บาท ขณะที่ได้รับเงินใส่ซองช่วยเหลือสำหรับงานดังกล่าวประมาณ 36,746 บาท ชาวบ้านมาร่วมทำบุญหลักสิบถึงหลักร้อยบาท แต่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมอาหารเครื่องดื่มมาคอยดูแลแบบจัดเต็ม ตั้งแต่ที่มารดาเสียชีวิต ก็มีการล้มหมู ซื้อเหล้า ขอเงินเติมน้ำมันเพื่อไปขนเต็นส์ โต๊ะ และจิปาถะ หลังเสร็จงานศพทำให้ต้องเป็นหนี้กว่า 50,000 บาท ยังไม่พอ ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมายังมีญาติมาสอบถามถึงการจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้โพสต์ได้ระบุด้วยว่า เหตุที่จัดการในลักษณะดังกล่าวเพราะญาติเป็นผู้ดำเนินการโดยที่ตนเองไม่สามารถพูดอะไรได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการจัดงานศพของภาคกลางก็พบว่าไม่ได้เป็นแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จากโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เห็นว่า การจัดงานศพนั้นควรจัดแบบเรียบง่ายมากกว่า เพราะผู้สูญเสียไม่ควรต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อเลี้ยงคนในงานที่มีแต่ความศกเศร้า
ล่าสุดวันที่ 28 เม.ย. 2568 นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า เครือข่ายงดเหล้า โดยเล็งเห็นปัญหาของค่าใช้จ่ายและความเหมาะสมของประเพณี จึงได้ทำมีโครงการงานศพปลอดเหล้าเคารพผู้วายชนม์ โดยมีตัวอย่างของบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ที่เริ่มต้นจากโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) โดยขยายแนวคิดจากงานศพปลอดเหล้าเพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดปัญหา ตลอดจนลดหนี้สินเพิ่มคุณภาพชีวิตเป็นชุมชนคนสู้เหล้าครบวงจร ซึ่งพบว่าการจัดงานศพมีค่าใช้จ่ายแบ่งเป็น 4 ก้อนหลัก คือ 1.ค่าพิธีกรรม ได้แก่ พิธีสงฆ์ พิธีเฉพาะในท้องถิ่น เช่น พิธีส่งดวงวิญญาณมีการซื้อเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เพื่อให้คนตายได้นำไปใช้ในโลกหน้า พิธีจัดการศพโดยสัปเหร่อ 2.ค่าโลง ดอกไม้หน้าโลง ตกแต่งไฟ จิปาถะ 3.ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และ 4.ค่าจัดการสถานที่โต๊ะ เต็นส์ และดูแลอำนวยความสะดวกจอดรถ
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่สามารถลดลงได้ คือ การไม่เลี้ยงเหล้าเบียร์ในงาน และการจัดการค่าอาหาร รวมทั้ง การเปลี่ยนสถานที่จัดงานไปจัดในวัดแทน อีกทั้ง ต้องมีการปรึกษาหารือกับคณะสงฆ์ในเรื่องการถวายซองพระในการสวดศพ จำนวนพระที่จะขึ้นสวดศพที่เหมาะสม ซึ่งหากทำได้สามารถลดค่าใช้จ่ายและตอบโจทย์งานศพที่เป็นการเคารพผู้วายชนม์ คนตายไม่ได้ขายคนเป็น ปัญหาสำคัญคือรูปแบบการจัดงานจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ต้องได้รับการยอมรับเป็นมติของสังคม กระบวนการชุมชนที่จะตกลงกันเป็นมติชุมชนในรูปของมติชุมชน ธรรมนูญตำบล ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือนโยบายของคณะสงฆ์ จะสามารถทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมของชุมชนได้จริง
นายธีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาหมู่ 6 บ้านหม้อ ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยผู้ใหญ่สมเพชร หงษ์ทอง ซึ่งเริ่มทำในปี 2552 โดยผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านได้เห็นปัญหาสังคมจากการจัดงานศพ จึงนำเอาตัวอย่างงานศพปลอดเหล้าที่จังหวัดพะเยามาหารือ ระดมความเห็น และทำเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนให้คนในชุมชนมีความสุข ร่วมกันคิด ร่วมทำสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้เข้มแข็ง สร้างความร่วมมือ จริงใจในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยการลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพปลอดเหล้า เพราะเป็นงานที่เจ้าภาพต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กว่า 20,000 – 40,000 บาท/ต่องาน ซึ่งสูงกว่าเงินทำบุญและค่าอาหารในการจัดงานอีก
ดังนั้นในการประชาคมหมู่บ้านจึงมีมติให้สร้าง “เครือข่ายชุมชนลดการดื่มสุรา และอันตรายจากการดื่มสุรา” เริ่มจากงานศพเพื่อไม่ให้ผู้สูญเสียต้องเป็นไปกู้หนี้ยืมสินมาจัดงาน ซึ่งมีกติกากำหนดให้ปฏิบัติร่วมกัน แต่หากเจ้าภาพไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีการดำเนินการดังนี้ 1. พระสงฆ์จะไม่รับกิจนิมนต์ ในพิธีการทางศาสนา 2. สมาคมงดจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์และเงินช่วยเหลือทุกอย่าง 3. ไม่ให้ยืมข้าวของส่วนกลางของหมู่บ้าน โดยการจัดงานศพทุกงานจะตั้งศพบำเพ็ญกุศลไว้ ณ ศาลาอิ่มบุญ อุ่นใจ ในวัดกุมภประดิษฐ์ (บ้านหม้อ) ชาวชุมชนจะช่วยเหลือกันจนงานเสร็จ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้เจ้าภาพ เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าเช่าบำรุงของกลุ่มต่างๆ ไม่ต้องใช้รถ ใช้คนในการจัดการขนเก็บอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้เป็นต้น ปัจจุบันชุมชนบ้านหม้อเป็นต้นแบบและตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้เป็นตัวอย่างในการสร้างข้อตกลงในชุมชน
“เครือข่ายงดเหล้า มีชุมชนที่มีมติชุมชนเพื่อแก้ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เพื่อลดหนี้สิน ลดค่าใช้จ่าย สร้างเสริมสุขภาพเป็นกรณีตัวอย่างกว่า 51 แห่ง และหากชุมชนใดสนใจสามารถติดต่อได้ทางเพจ “เครือข่ายงดเหล้า” เพื่อขอได้พูดคุยกับผู้นำชุมชนตัวจริงที่ทำเรื่องนี้เป็นที่ปรึกษาได้” นายธีระ กล่าว
You must be logged in to post a comment Login